วิจัยกสิกรฯคาดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก ตปท.ใน EEC จะขยายตัวจาก 2.8 แสนลบ.ในปี 60 เป็น 4 แสนลบ.ในปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 10, 2018 09:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วอย่างเป็นทางการซึ่งจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนในการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวจากการให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุนเพิ่มเติม หรือการออกใบอนุญาตต่างๆที่รวดเร็วมากขึ้น นอกเหนือจากความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากพิจารณาถึงการลงทุนภาคเอกชนในแถบพื้นที่ EEC นักลงทุนต่างชาตินับได้ว่าเป็นผู้เล่นสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรม First S Curve ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น-กลาง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยให้ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่ EEC เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมให้ขยายตัวขึ้นจากราว 283,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2560 ไปเป็น 400,000 ล้านบาทภายในปี 2565 ทั้งนี้ นักลงทุนหลักในพื้นที่ EEC คาดว่าจะยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น แต่อาจจะเห็นโครงการลงทุนมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐฯ และ EU

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มาจากการลงทุนใน EEC โดยเฉพาะน้ำประปาและไฟฟ้า อาจทำให้อุปทานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำประปาที่อุปทานอาจรองรับได้ถึงเพียงราวปี 2562

มองไปในระยะยาว การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve บางประเภทที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้นอาจเผชิญความท้าทายจากความพร้อมทางด้านนวัตกรรมของไทยที่แข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งคงต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่ายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับแนวคิดการจัดตั้ง EECi และ EECd ในพื้นที่ EEC เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนในพื้นที่ EEC ที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve จะมีส่วนช่วยให้มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศขยายตัวจาก 283,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2560 ไปอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปีภายในปี 2565 และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ EEC เป็นร้อยละ 65

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานในพื้นที่ย่อมนำมาซึ่งความต้องการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มากขึ้นตาม โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จนอาจนำมาซึ่งความท้าทายทางด้านอุปทานที่อาจไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ