นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เตรียมเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนการจัดสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยเตรียมแผนดำเนินการที่จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาท่าเทียบเรือในช่วงกลางปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และเพื่อให้การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นไปอย่างราบรื่น
สำหรับก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไว้ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนพื้นที่ถมทะเลและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย งานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือและแอ่งกลับเรือ งานถมทะเล งานก่อสร้างเขื่อนหินกันทรายรอบพื้นที่ งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ
และส่วนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า โดยแบ่งเป็น ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ 150 ไร่
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนและบางบริษัทเอกชนบางรายให้ความสนใจทั้งในส่วนของพื้นที่ถมทะเลและส่วนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล การจัดสร้างพื้นที่จัดเก็บถังสารเคมี(Liquid Chemical Tank farm) และถังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG Storage Tank) รวมทั้งพร้อมที่จะดำเนินกิจการบริหารจัดการท่าเรือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อลงทุนโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ – จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) บนพื้นที่จำนวนประมาณ 200 ไร่
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์ รายละเอียดและเงื่อนไขสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน และหากคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเห็นชอบกับโครงการก็จะมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมลงทุนต่อไป
นายวีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ. ยังได้กำหนดให้การพัฒนาท่าเรือฯ เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการขนส่งแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green Logistics สอดรับกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐบาลโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ซึ่งกนอ.ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมรวมถึงการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ
ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย และมีจำนวนท่าเทียบเรือให้บริการ 32 ท่า ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 5.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และในปี พ.ศ. 2560 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีปริมาณเรือเทียบท่ากว่า มากกว่า 7,000 ลำ มีปริมาณสินค้าผ่านท่ารวมมากกว่า 44,652,387 ตัน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซประมาณ 58% ถ่านหิน 17% เคมีภัณฑ์ 16% และอื่นๆ ประมาณ 9% มีมูลค่าสินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมทั้งสิ้นกว่า 489 ล้านบาท ซึ่งท่าเรือฯมาบตาพุดยังคงเป็นท่าเรือและฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้