นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกส่วน ก่อนรวบรวมและบรรจุในร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ภายในเดือน มี.ค. 2561
โดยกระบวนการหลังจากนี้ฝ่ายบริหารจะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางต่าง ๆ ก่อนเสนอให้ สนช. พิจารณาต่อไป โดยในหลักการเมื่อกฎหมายผ่านขั้นตอนของ สนช. แล้ว จะต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน หลังกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้ ซึ่งเบื้องต้นคาดไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีการบังคับใช้มานาน
"เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นมาทั่วประเทศไปแล้ว ถือว่าระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบปีในชั้นกรรมาธิการได้มีการนำเอาข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระภาษี และมีความเต็มใจในการชำระภาษีด้วย"
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า หลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะไม่ทำให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการ SME มีภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการปรับลดเพดานภาษีลงมาแล้ว 40% รวมทั้งให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท ทำให้ผู้ที่มีบ้านหลังต่อไปมีภาระภาษีเฉลี่ย 1 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 200 ล้าน (ล้านละ 200 บาท) ส่วนเกษตรกรจะเว้นภาษีให้สำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 100 บาท (ล้านละ 100 บาท)
"เบื้องต้นคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ตามแผนของกฎหมายจะมีทั้งการบรรเทา และแบ่งเบาภาระภาษีให้กับประชาชนในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 25% ต่อปี ทำให้รัฐบาลจะมีรายได้จากส่วนนี้เฉลี่ยปีละ 2.5 พันล้านบาท" นายวิสุทธิ์ กล่าว
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจะมีอัตราเพดานที่ 0.15% จากเดิม 0.2% โดยหากเป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ละไม่เกิน 50 ล้านบาท
ส่วนบ้านพักอาศัยจะมีอัตราเพดานที่ 0.3% จากเดิม 0.5% โดยหากเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้น 20 ล้านบาท และหากเป็นเจ้าของบ้านและมีชื่อในทะเบียนบ้านจะได้รับยกเว้น 10 ล้านบาท
ส่วนที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม และอื่นๆ มีอัตราเพดานที่ 1.2% จากเดิม 2% โดยหากเป็นที่รกร้างว่างเปล่า อัตราเพดานจะจัดเก็บเหมือนประเภทอื่น ๆ และเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ เกษตรกรตัวจริงและประชาชนทั่วไปไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะได้รับภาระเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยหลังหลักจะได้รับยกเว้นตามกำหนด และมีการบรรเทาภาระภาษีให้กับที่อยู่อาศัยที่ได้รับมาทางมรดกก่อนที่กฏหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนเกษตรกรยังมีที่ดินส่วนที่ขึ้นทะเบียนทำการเกษตร จะเสียภาษีในอัตราเกษตรกรรม อีกทั้งที่ดินเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับยกเว้นรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาทใน 1 อปท.
ขณะที่ด้านนายอธิป พีชานท์ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ยังมีความกังวลในหลายประเด็น อาทิ ผู้ประกอบการ SME ที่อาจมีภาระสูงขึ้นจากกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังมีการภาระจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะลดการใช้ดุลพินิจและการตีความให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
และอีกประเด็นหนึ่งคือ ระบบการจัดเก็บภาษีฯยังมีความซับซ้อนเนื่องจากมีอัตราเริ่มต้นและอัตราเพดาน รวมถึงการประเมินการใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจมีการเลี่ยงการถือครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยการทำเกษตรโดยไม่ตั้งใจซึ่งอาจกระทบต่อทรัพยากรน้ำที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ยังอาจกระทบต่อการแย่งการขายกับเกษตรกรตัวจริง
อีกทั้งการเสียภาษีบ้านหลังที่ 2 ที่สามารถมีการลดหย่อนได้ อาจกระทบต่อธุรกิจบ้านพักตากอากาศ และยังมีอีกหลาย ๆ ประเด็นที่ยังคลายกังวลไม่ได้
ทั้งนี้นายอธิป มองว่า ประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจ โดยทางกระทรวงการคลังควรจะทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพื่อลดปัญหาหลังกฏหมายประกาศใช้และควรจะจัดเก็บเป็นภาษีในอัตราเดียว (flat rate) เนื่องจากการเก็บภาษีแบบขั้นบันได หรือมีการลดหย่อนได้ จะทำให้เกิดการตีความด้วย
อีกทั้งยังมีการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 51 กรณีที่มีภาระภาษีมากกว่าเดิม โดยจะลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ไม่เกิน 90% อาทิ บ้านอยู่อาศัยหลังหลัก ทรัพย์สินสถานศึกษาเอกชน ที่ดินที่กฎหมายห้ามทำประโยชน์บางอย่าง ที่ดินที่เป็นสถานกีฬา ที่จอดรถสาธารณะ ทรัพย์สินที่เป็น NPA ของสถาบันการเงิน และทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม