นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (12 ก.พ.) กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ธรรมาภิบาลเหมืองแร่ ร่วมกับกิจการเหมืองแร่ไทย สภาการเหมืองแร่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมย่อยหินไทย และผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ เพื่อมุ่งมั่นให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคมและสุขภาพประชาชน ภายในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "มิติใหม่ เหมืองแร่ไทย : ก้าวสู่หลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" (Thailand Green and Smart Mining Forum 2018) ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม
การร่วมลงนามในวันนี้เพื่อประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า กฟผ. มีความมุ่งมั่นพัฒนาการประกอบกิจการเหมืองแร่ของ กฟผ. โดยยึดหลักธรรมาภิบาล มุ่งสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอาใจใส่สังคม และดูแลสุขภาพประชาชนโดยรอบพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เหมืองแม่เมาะ เป็นเหมืองแร่ลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ มีภารกิจในการผลิตและส่งถ่านหิน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือดีกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด และปฏิบัติตามมาตรการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งยังมีการดูแลสุขภาพชุมชนภายใต้กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนรอบพื้นที่เหมืองแร่ โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพประชาชนเป็นประจำทุกปี จัดอบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบมีสุขภาพอนามัยที่ดี และเหมืองแม่เมาะได้มีการบูรณาการแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปตามความต้องการของชุมชนมากที่สุด เช่น ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และการจ้างแรงงานท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจวัดสิ่งแวดล้อมกับ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับชุมชน และมีการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ควบคู่ไปกับการทำเหมือง โดยการจัดตั้ง "กองทุนฟื้นฟูสภาพเหมือง" เพื่อจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานฟื้นฟูสภาพเหมืองตลอดอายุประทานบัตร โดยดำเนินการปลูกป่าทดแทนไปแล้วหมื่นกว่าไร่ พร้อมพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของชุมชน จนทำให้เหมืองแม่เมาะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง