นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ระบุว่ากระทรวงพลังงานพร้อมเจรจากลุ่มเอกชนที่ได้สร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมียนมาเพื่อนำก๊าซฯกลับมาใช้ในประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ หลังแผนการก่อสร้างคลัง LNG ในเมียนมาของบมจ.ปตท. (PTT) ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลเมียนมาได้ลงนามในการเริ่มงานวิศวกรรมเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและนำเข้า LNG กับ 6 บริษัท ประกอบด้วย TOTAL, Siemens AG , Zhefu Holding, บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL), Sinohydro Corporation and Myanmar-based Supreme Trading เป้าหมายหลักที่รัฐบาลเมียนมาประกาศคือเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 3,100 เมกะวัตต์ สำหรับ โรงไฟฟ้า 4 แห่งในปี 64
"ไม่ว่าจะเป็นเอกชนรายใดลงทุนคลัง LNG ในเมียนมา ก็เชื่อว่าจะมีการพูดคุยและส่งก๊าซฯให้ไทย เพราะท่อก๊าซฯไทย-เมียนมา มีการก่อสร้างเชื่อมโยงกันไว้แล้ว ที่ปัจจุบันรับก๊าซฯจากแหล่งในเมียนมา มาที่จังหวัดกาญจบุรี อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายว่า ปตท.จะไม่ได้ลงทุนในเมียนมา คงจะอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติม ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบความมั่นคงด้านพลังงานของไทยแน่นอน"นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการสร้างคลัง LNG ในเมียนมา และก็ไม่ได้เสนอให้ กระทรวงฯเข้าไปช่วยเจรจาระดับรัฐบาล เพื่อขอดำเนินโครงการนี้ ซึ่งการที่รัฐบาลเมียนมาได้ลงนามข้อตกลงในการเริ่มงานวิศวกรรมเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการนำเข้า LNG ดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการของเมียนมา ซึ่งกระทรวงฯ มั่นใจจะไม่กระทบต่อไทย เพราะจากการวางแผนที่รัดกุม ก็เชื่อว่าก๊าซฯในประเทศจะไม่ขาดแคลนไม่ว่า ปตท.จะได้ก่อสร้างคลังนำเข้า LNG ในพื้นที่ KANBAUK ของเมียนมาหรือไม่
อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มอบหมายให้ปตท.ศึกษารายละเอียดของโครงการสร้างคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในเมียนมา เพื่อทดแทนการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในเมียนมา ที่จะหมดไปในอนาคต และกระจายความเสี่ยงจัดหาก๊าซฯโดยกระจายไปยังฝั่งตะวันตก เพื่อลดการพึ่งพาจัดหาก๊าซฯจากฝั่งตะวันออก โดยมีขนาด 3 ล้านตัน/ปี กำหนดส่งก๊าซฯภายในปี 70
ด้านนายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า โครงการคลัง LNG ในเมียนมาที่ ปตท.ศึกษานั้นได้หารือกับรัฐบาลเมียนมาโดยตลอด โดยทางเมียนมา แจ้งให้รับทราบว่าโครงการที่ลงนามกับเอกชนรายอื่น เป็นคนละส่วน คนละวัตถุประสงค์กับโครงการของ ปตท.ที่จะลงทุนก็เพื่อนำมาใช้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในไทยเป็นหลัก ส่วนโครงการที่รัฐบาลเมียนมาลงนามข้อตกลงไปนั้นจะเน้นเป็นการลงทุนเพื่อใช้ในประเทศเมียนมาเอง
อย่างไรก็ตาม โครงการคลัง LNG ของ ปตท.ในเมียนมาจะสร้างหรือไม่นั้น ทาง ปตท.ก็ต้องรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยาว (PDP) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำใหม่ ว่ายังมีความต้องการใช้ก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกสำหรับโรงไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด