นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เผย "ผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก" พบผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกินกว่าครึ่ง หรือ 57% มีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (Global economic growth) ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักเริ่มสดใส แต่เป็นห่วงว่างานในสายธนาคารและตลาดทุนมีทีท่าว่าจะสูญหายไปด้วย สืบเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ
"ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้สูงขึ้นจากปีก่อน โดยพบว่า ผู้บริหารทั่วโลกถึง 57% เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว จากปี 2560 ที่ 29% และยังเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555" นายศิระ กล่าว
ทั้งนี้ PWC ได้จัดทำผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก หรือ Global CEO Survey ครั้งที่ 21 ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจำนวนทั้งสิ้น 1,239 คนใน 85 ประเทศ
เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมั่นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้นั้น พบว่า มีทิศทางเช่นเดียวกับซีอีโอโลก โดยผู้นำธุรกิจเอเปกถึง 60% เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีกว่าปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมาที่ 28% ขณะที่ 44% ของผู้นำธุรกิจเอเปก เชื่อมั่นว่า รายได้ของบริษัทปีนี้จะดีกว่าปีก่อนเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 37%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นภัยคุกคามธุรกิจในสายตาซีอีโอเอเปก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (52%) ตามด้วยอันดับที่ 2 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (51%) และอันดับที่ 3 ภัยก่อการร้าย (46%)
"การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นเรื่องที่ธุรกิจยุคนี้ต้องไม่มองข้าม เพราะไม่เช่นนั้น จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง หรือผู้เล่นรายใหม่ ที่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเร่งลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ เรามองว่า การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะสะเต็มของพนักงาน จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยดึงศักยภาพแฝงของพนักงานออกมาช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้" นาย ศิระ กล่าว
ด้านนายบ็อบ มอริตซ์ ประธาน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยสัญญาณของความแข็งแกร่งจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว นอกจากนี้ ภาวะตลาดหุ้นที่กลับมาคึกคัก และการคาดการณ์ GDP ในตลาดหลักๆ หลายแห่งของโลกที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมซีอีโอทั่วโลกต่างพากันแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตในปีนี้
ทั้งนี้ จากมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกนี่เอง ทำให้ 42% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกยังแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขยับจากปีก่อนที่ 38%
สำหรับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ซีอีโอแสดงความมั่นใจมากที่สุดว่ารายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยี (48%) บริการทางธุรกิจ (46%) และ เภสัชกรรมและชีววิทยาศาสตร์ (46%)
ในส่วนของ 5 อันดับตลาดที่น่าลงทุนทั่วโลกในปีนี้นั้น พบว่า สหรัฐฯ (46%) ยังครองแชมป์ตลาดที่น่าลงทุนและมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของรายได้เป็นอันดับที่ 1 ในสายตาของซีอีโอทั่วโลก ทิ้งห่างอันดับที่ 2 อย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน (33%) ตามด้วยอันดับที่ 3 เยอรมนี (20%) อันดับที่ 4 อังกฤษ (15%) และ อินเดีย (9%) ที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 ในปีนี้แทนที่ญี่ปุ่นในปีก่อน
นายบ็อบ กล่าวว่า แม้ความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยครอบคลุมความเสี่ยงในวงกว้างทั้งทางด้านธุรกิจ สังคม และ เศรษฐกิจ โดยผลสำรวจพบว่า 3 อันดับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรายได้และสร้างความกังวลให้แก่ซีอีโอโลกมากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป (42%) อันดับที่ 2 การก่อการร้าย (41%) และอันดับที่ 3 ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง และ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (40% เท่ากัน) โดยความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายนั้น ยังถือเป็นประเด็นที่ผู้นำธุรกิจทั่วโลกกังวลเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยความกังวลขยับขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อน (20% ในปี 2560) และยังไต่ระดับจากอันดับที่ 12 ในปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 2 ในปีนี้ นอกจากนี้ อีก 1 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่น่าสนใจ คือ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว (31% ปีนี้ เทียบกับ 15% ปีที่แล้ว) หลังจาก 1 ปีของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการประชุมและลงนามร่วมกันกว่า 190 ประเทศ และนำไปสู่การกระทำโดยสมัครใจในด้านต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงทุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้นำธุรกิจทั่วโลกกว่า 54% มีแผนจะเพิ่มการจ้างงานในปีนี้ สูงกว่าปีก่อนที่ 52% โดยมีผู้นำเพียงแค่ 18% เท่านั้นที่คาดว่าจะลดจำนวนพนักงานลง สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการจ้างพนักงานเพิ่มมากที่สุดคือ สุขภาพ (71%) เทคโนโลยี (70%) บริการทางธุรกิจ (67%) สื่อสาร (60%) และ โรงแรม (59%) นอกจากนี้ เมื่อถามถึงทักษะด้านดิจิทัลพบว่า มากกว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของซีอีโอทั่วโลกมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความพร้อมของทักษะทางด้านดิจิทัลของแรงงานภายในประเทศที่พวกเขาดำเนินธุรกิจอยู่ โดยในบางประเทศอย่าง แอฟริกาใต้นั้น ตัวเลขความกังวลในด้านนี้สูงถึง 49% ตามหลังจีนที่ 51% และบราซิลที่ 59% เมื่อพูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงานและทักษะ ผลสำรวจพบว่า ในขณะที่พนักงานมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงแนวโน้มของการทำงาน บรรดาผู้ซีอีโอกลับยอมรับว่า การฝึกฝนทักษะของพนักงานใหม่ และการเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการเข้ามาของระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมีผลกระทบต่องานในอนาคต กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญของพวกเขาต้องจัดการ โดย 2 ใน 3 ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า พวกเขามีหน้าที่ที่ต้องฝึกฝนทักษะให้กับพนักงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มวิศวกรรมและก่อสร้าง (73%) เทคโนโลยี (71%) และสื่อสาร (77%) โดย 61% ของซีอีโอยังบอกด้วยว่า ได้พยายามสร้างความไว้วางใจกับพนักงานของตนผ่านการสร้างความโปร่งใสว่า ระบบอัตโนมัติและเอไอจะเข้ามามีผลกระทบต่อพนักงานของพวกเขาอย่างไรบ้าง ผลสำรวจของ PwC ยังระบุว่า การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลและระบบอัตโนมัติจะส่งกระทบอย่างรวดเร็วและฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการทางด้านการเงิน โดยเกือบ 1 ใน 4 หรือ 24% ของผู้บริหารในกลุ่มธนาคาร ตลาดทุน และประกันภัยมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลง ขณะที่อีก 28% มองว่า งานในสายธนาคารและตลาดทุนมีทีท่าว่าจะสูญหายไปด้วย สืบเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ