นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรับทราบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในภาพรวมว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้กระทรวงฯ นำไปประกอบการพิจารณาในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง ชัดเจน และบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม อาทิ การติดตามความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคของแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) กับการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ Thailand 4.0 การพิจารณากฎหมายการควบคุมอากาศยานไร้คนขับที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินของไทย การจัดหาและการบริหารจัดการด้านบุคลากรในหน่วยงานของรัฐให้มีจำนวนเพียงพอ เพื่อรองรับการขยายต่ออย่างต่อเนื่องและรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน แผนงานและความก้าวหน้าของการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์การบินแห่งภูมิภาคและเมืองการบินภาคตะวันออกของประเทศไทย รวมทั้งการเป็นศูนย์ผลิตอะไหล่ การซ่อมบำรุง และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้กระทรวงฯ เร่งรัดการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ และดูแลการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งบูรณาการการเชื่อมต่อการเดินทางระบบต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินทาง เพื่อลดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ ไปประกอบการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป
นอกจากนี้ มีการหารือในกรณีถนนที่ท้องถิ่นได้รับโอนจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เกิดชำรุดเสียหาย แต่มีปัญหาหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุง และต้องการโอนคืน แต่กฎหมายที่กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นห้ามโอนคืน และการบริหารท่าเรือชายฝั่งที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนสูง ทำให้เอกชนไม่เข้ามาลงทุน ซึ่งในส่วนของการโอนถนนจากท้องถิ่นคืนนั้น เป็นถนนที่มีความเสียหายเร็ว เพราะมีการบรรทุกหนัก ขณะที่การจัดตั้งงบประมาณมีข้อจำกัด ดังนั้นจะมีการหารือร่วมกันในประเด็นข้อกฎหมาย
ส่วนปัญหาท่าเรือไม่มีผู้บริหารนั้น หลังจากที่กรมเจ้าท่าดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วจะต้องโอนคืนกรมธนารักษ์ แต่ปัญหาคือ กรมธนารักษ์ได้มีข้อกำหนดในเรื่องผลตอบแทนจากเอกชนค่อนข้างสูง ทำให้เอกชนไม่เข้ามาลงทุน ซึ่งเดิมกำหนดให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 50% ก่อนหักภาษี แม้ว่าจะมีการปรับเงื่อนไขเมื่อปลายปี 2560 เป็นเก็บส่วนแบ่งรายได้ในอัตราก้าวหน้า คิดค่าเช่า 3% แต่มีเงินกินเปล่า (แป๊ะเจี๊ยะ) อีก 1% ต่อปี ของมูลค่าสินทรัพย์ เช่น กรณีท่าเทียบเรือคลองใหญ่ มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ ปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงและเป็นภาระ ดังนั้นตนและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะได้หารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน