ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักในปี 2561 จะให้ภาพที่ปะปนกัน โดยบางรายการอาจมีราคากระเตื้องขึ้นอย่างข้าวและมันสำปะหลังที่น่าจะพลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 2.0% และ 21.4% (YoY) ตามลำดับ จากความต้องการที่มีรองรับ
ส่วนรายการที่ราคาอาจอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนคือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ราคาน่าจะปรับตัวลดลง 20.0% และ 7.3% (YoY) ตามลำดับ จากการเผชิญปัญหาด้านสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงอ้อย ที่ราคาอาจปรับตัวลดลง 16.2% (YoY) ที่ถูกกดดันด้านผลผลิตที่อยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี ยังคงต้องติดตามมาตรการภาครัฐในการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน รวมถึงในส่วนของตัวเกษตรกรเองก็ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้เสริมเช่นกัน
*ข้าว-มันสำปะหลัง ภาพทั้งปีราคาเฉลี่ยพลิกกลับมาขยายตัวแดนบวกได้
สำหรับข้าว ภาพรวมราคาเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% (YoY) จากสาเหตุความต้องการข้าวจากต่างประเทศ เช่น จีนที่มีแผนจะทยอยส่งมอบข้าวที่เหลืออีก 6 แสนตันในปี 2561 (ส่งมอบไปแล้ว 4 แสนตันในปีก่อน จากสัญญาส่งมอบ G to G ทั้งหมด 1 ล้านตันในปี 2558) รวมถึงบังกลาเทศที่มีแผนจะซื้อข้าวจากไทย 1.5 แสนตัน, สต็อกข้าวไทยที่ลดลง ส่งผลจิตวิทยาข้าวที่ช่วยหนุนราคา
โดยในเดือนม.ค.61 ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยที่ 10,153 บาทต่อตัน เป็นผลมาจากข้าวหอมมะลิที่ราคาพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 13,359 บาทต่อตัน (สูงสุดในรอบ 4 ปี) อย่างไรก็ดี คาดว่า ในช่วงไตรมาส 1-2 ราคาข้าวเฉลี่ยน่าจะปรับตัวลดลงจากปัจจุบันโดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า จากผลด้านฤดูกาลที่ข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาด จากนั้นในไตรมาส 3-4 ราคาข้าวเฉลี่ยน่าจะขยับสูงขึ้นกว่าราคาเฉลี่ยในไตรมาส 1-2 จากความต้องการของต่างประเทศอย่างเบนินและจีน ที่มีความต้องการข้าวไทยมากที่สุดในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ เพื่อเตรียมนำไปบริโภคในช่วงปีใหม่ ทั้งนี้ ราคาข้าวเฉลี่ยถัดจากนี้อาจต่ำกว่าราคาในปัจจุบัน แต่ราคาเฉลี่ยทั้งปีจะสูงกว่าปีก่อน โดยแรงหนุนสำคัญมาจากข้าวหอมมะลิ
ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปริมาณน้ำที่จะกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว หากสถานการณ์ลานีญามีระดับความรุนแรงมาก ก็จะยิ่งกดดันราคาข้าว, ผลผลิตอยู่ในระดับสูง คาดว่า ในปี 2561 จะมีผลผลิตข้าวราว 33.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.8% (YoY)
ด้านภาพรวมราคามันสำปะหลังเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.4% (YoY) จากความต้องการจากจีนที่มีรองรับในเอทานอลและแอลกอฮอล์ โดยไทยส่งออกมันเส้นไปจีนกว่า 99%, สต็อกข้าวโพดจีนที่ปรับตัวลดลง โดยคาดว่า ในปี 2561 จะอยู่ที่ 79.5 ล้านตัน จากเดิมที่มีมากกว่า 100.7 ล้านตันในปี 2560 (อ้างอิงจาก United States Department of Agriculture: USDA) อย่างไรก็ดี ยังนับว่าสต็อกข้าวโพดของจีนยังคงอยู่ในระดับสูง และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังของไทยลดลง อยู่ที่ 28.6 ล้านตัน หรือลดลง 7.7% (YoY) เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ทั้งนี้ในเดือนม.ค.61 ราคามันสำปะหลัง เฉลี่ยอยู่ที่ 2.01 บาทต่อกก. ซึ่งคาดว่า ราคาน่าจะยืนรักษาระดับในเกณฑ์ดีต่อเนื่องได้ในไตรมาส 1 จากความต้องการมันเส้นของจีนที่มีรองรับมากที่สุดในไตรมาส 1 เพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอลและแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลงในไตรมาส 2-4 ตามความต้องการของจีนที่ชะลอลง แต่ภาพรวมราคาจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน (ราคามันสำปะหลังเฉลี่ยต่ำสุดที่ 1.4 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2560 นับว่าเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 7 ปี)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปริมาณสต็อกข้าวโพดของจีน หากให้ภาพที่ทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ ก็อาจมีโอกาสหนุนให้ราคามันสำปะหลังไทยกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีได้
*ยาง-ปาล์มน้ำมัน-อ้อย ราคาอ่อนลงจากปัญหาสต็อกในและตปท.สูง
ภาพรวมราคายางพาราเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่า จะปรับตัวลดลง 20.0% (YoY) จากสาเหตุจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักมีแนวโน้มที่จะสั่งซื้อในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากสต็อกยางจีนอยู่ในระดับสูง โดยสต๊อกยางที่เมืองชิงเต่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 129,200 ตัน (ธ.ค.2560) จากที่ปริมาณสต๊อกเคยมีระดับต่ำเพียง 100,000 ตันในเดือนม.ค.2560 (แม้จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โกดังเก็บยางเมื่อต้นเดือนธ.ค.2560 ที่เสียหายไปราว 30,000 ตัน),
แม้ความต้องการใช้ยางจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แต่ปริมาณสต็อกยางโลกถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2561 เป็น 4 ล้านตัน จาก 3.7 ล้านตันในปีก่อน ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (อ้างอิงจาก International Rubber Study Group: IRSG), ผลของฐานเปรียบเทียบในประเทศช่วงครึ่งแรกของปีก่อนที่สูง เนื่องจากผลของราคาน้ำมันดิบดูไบช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ขยายตัวกว่า 39.4% (YoY)
โดยในเดือนม.ค.61 ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 42.83 บาทต่อกก. คาดว่า จากนี้ไปราคายางน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1 โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 45-47 บาทต่อกก. จากความต้องการใช้ยางในจีนเพื่อผลิตรถยนต์ราว 450,000 ตัน และความต้องการในมาเลเซียเพื่อผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ราว 130,000 ตัน ที่จะมีการผลิตจำนวนมากในไตรมาส 1 ตามปัจจัยฤดูกาล ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงมาตรการโค่นต้นยาง แม้ว่าจะมีมาตรการจำกัดการส่งออกภายใต้ความร่วมมือของ 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 2 ราคายางอาจปรับตัวลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีจากปัจจัยด้านอุปทาน ทำให้ทั้งปีราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนด้วย
ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปริมาณสต็อกยางจีน และสต็อกยางโลก หากยังอยู่ในระดับสูงตามผลผลิตที่เพิ่ม จะกดดันราคายางให้อยู่ในระดับต่ำ และ ราคาชี้นำที่ตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ยังเป็นปัจจัยกำหนดราคายาง ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับภาพรวมราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่า จะปรับตัวลดลง 7.3% (YoY) จากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ในระดับสูง โดย ณ ม.ค.2561 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ราว 4 แสนตัน เทียบกับระดับปกติที่ควรมีแค่ 2-3 แสนตัน, ผลผลิตและสต็อกของผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น, ราคาอ้างอิงในตลาดมาเลเซียที่ลดลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมตามข้อเสนอของสหภาพยุโรป ว่าจะยุติการผลิตเชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มในปี 2564 และไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานทดแทน เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกเป็นอันดับสาม รองจากอินเดียและจีน
ทั้งนี้ในเดือนม.ค.61 ราคาผลปาล์มทะลายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.95 บาทต่อกก. คาดว่า ราคาอาจจะยืนระดับต่ำเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 เนื่องจากจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากที่สุดในไตรมาส 2 และราคาอาจมีโอกาสขยับขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในการผลักดันราคาปาล์ม และการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลบี 7
นอกจากนี้ ณ ม.ค.2561 มีโครงการนำร่องทดสอบการใช้ไบโอดีเซลบี 10 ในส่วนงานราชการ-ทหาร คาดจะช่วยดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบได้ราว 4 หมื่นตันต่อเดือน (เริ่มดำเนินการในสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย) ในภาวะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงกว่าปีก่อน จะช่วยพยุงราคาปาล์มไม่ให้ตกต่ำมากนัก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มของไทย หากยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยสำคัญกดดันราคาปาล์มน้ำมัน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานของมาเลเซีย อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย และส่งผลกดดันราคาปาล์มน้ำมันในตลาดโลก
ด้านภาพรวมราคาอ้อยเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่า จะปรับตัวลดลง 16.2% (YoY) จากผลผลิตน้ำตาลโลกอยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนเกิดอุปทานส่วนเกิน โดยในปี 2561 คาดว่าจะมีอุปทานส่วนเกินของโลกอยู่ที่ 6.1 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนที่มีอุปทานส่วนเกิน 2.9 ล้านตัน, การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น จากประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างบราซิลที่หันไปส่งออกในตลาดอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดเดียวกับที่ไทยส่งออกไป หลังจากที่จีนใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าด้วยการเก็บภาษี ตั้งแต่เดือนพ.ค.2560-พ.ค.2563 ในอัตรา 45% ในปีแรก และลดลง 5% ในช่วงปีที่เหลือ
ในเดือนม.ค.61 ราคาอ้อยอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 754 บาทต่อตัน น่าจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส 1 จากปัจจัยด้านฤดูกาลที่อ้อยของไทยจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก อย่างไรก็ดี คาดว่า ราคาอ้อยน่าจะให้ภาพที่ดีขึ้นได้ในไตรมาส 2 จากความต้องการน้ำตาลจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย เฉลี่ยที่ราว 600,000 ตัน แต่ภาพรวมราคาทั้งปียังต่ำกว่าปีก่อน
ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปริมาณผลผลิตของคู่แข่งหลักอย่างบราซิล หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อาจกดดันยอดส่งออกน้ำตาลและราคาอ้อยไทย