นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่า ตั้งเป้าทั้งปี 2561 จะมีกำไรประมาณ 120 ล้านบาท จากปี 60 ที่มีกำไร 16 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ประสบกับการขาดทุน โดยผลประกอบการช่วงไตรมาส 1 (ต.ค. - ธ.ค.60) มีกำไรแล้ว 35 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับปรุงการตลาดคุณภาพการบริการ โดยเฉพาะการปรับปรุงรถ 149 คัน ซึ่งรับรถแล้ว 127 คัน สามารถนำมาวิ่งให้บริการทดแทนรถเก่า ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพด้านตัวรถ
โดยขณะนี้ บขส.มีแผนการจัดหารถโดยสารอีก 2 รุ่น เพื่อทดแทนรถเก่า ซึ่งได้เร่งรัดงบลงทุนในส่วนนี้ โดยเป็นโครงการจัดหารถโดยสารใหม่เพื่อทดแทนรถเก่า ซึ่งจะมีรถโดยสารขนาดใหญ่ (12 เมตร) จำนวน 314 คัน และรถโดยสารขนาดเล็ก (8 เมตร) จำนวน 55 คัน ที่จะนำมาวิ่งทดแทนรถตู้โดยสารในเส้นทางระยะสั้น ซึ่งรถรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง จะช่วยเพิ่มคุณภาพในการให้บริการ
นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการอื่นๆ เช่น การนำระบบไอที การพัฒนาแอพพลิเคชั่น มาใช้ในการจองและจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้โดยสาร ทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถ ซึ่งขณะนี้ บขส.มีโครงการ Safety Manager อบรมพนักงานเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงห้องน้ำบนรถให้มีความสะอาดมากขึ้นด้วย
ส่วนสถานีขนส่งทั่วประเทศ จำนวน 102 แห่งนั้น เป็นสถานีที่อยู่ในความดูแลของ บขส. 8 แห่ง จะมีการปรับปรุงให้มีความสะอาด ทันสมัย และปลอดภัย เป็นตัวอย่างให้กับอีก 94 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ไปอยู่ในพื้นที่หมอชิตเดิม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุนั้น ขณะนี้รอกรมธนารักษ์ดำเนินการในการร่วมทุนกับเอกชน ซึ่ง บขส.จะได้บริหารจัดการพื้นที่ประมาณ 112,000 ตร.ม. โดยระหว่างนี้จะหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการลดขนาดพื้นที่สถานีหมอชิตใหม่ในปัจจุบัน เพื่อให้เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ
ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ในปีนี้ บขส. จะเพิ่มรายได้ใน 2 ส่วน คือ 1.จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์ คาดว่าจะมีรายได้ 190 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีรายได้เพิ่มจากศูนย์ซ่อม ส่วนด้านผู้โดยสารจะมีการเพิ่มความถี่เที่ยววิ่งในเส้นทางหลักที่มีความต้องการเพิ่มเติม
สำหรับโครงการเช่ารถโดยสารขนาดเล็ก (8 เมตร) จำนวน 55 คัน เพื่อนำมาวิ่งในระยะสั้นแทนรถตู้โดยสารนั้น การประมูลมีความล่าช้า โดยเปิดประมูล E-Bidding แล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มีผู้ร่วมประมูล เนื่องจากเห็นว่าราคากลางค่าเช่าที่ 2,100 บาท/คัน/วัน ต่ำเกินไป ขณะนี้ได้มีการปรับราคากลางใหม่เป็น 3,000 บาท/คัน/วัน และเตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. เพื่อขออนุมัติในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดประมูล โดยได้เพิ่มรถอีก 9 คัน จัดประมูลนำร่องและนำมาใช้ในการเดินรถสายสั้นที่มีความต้องการสูง 3 เส้นทาง สัญญาเช่าอายุ 4 ปี และอีกส่วนคือ 55 คัน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมูล 4 เดือน หลังได้ตัวผู้ชนะประมูลจะต้องประกอบรถอีก 8 เดือน