นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีความผันผวนในตลาดเงินโลกค่อนข้างมาก และแม้จะเป็นความผันผวนในช่วงสั้น แต่กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ต่างประเทศดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเห็นว่าไม่กระทบกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ของไทย แต่อาจจะมีผลกระทบต่อค่าเงินได้ เพราะตั้งแต่ต้นปี 61 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 3.53% ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญ แข็งค่าขึ้น 1.59%
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในหลายด้าน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากนักจากความผันผวนของค่าเงิน เช่น การเร่งชำระคืนหนี้ต่างประเทศ ซึ่งแม้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศจะมีจำนวนไม่สูงมาก แต่ก็ยังมีหนี้ต่างประเทศบางส่วนที่สามารถเร่งชำระคืนได้เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงิน โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศรายหนึ่ง และคาดว่าจะสามารถชำระคืนหนี้ต่างประเทศประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งโครงการลงทุนบางส่วนมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ และการเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจนี้ นอกจากจะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้แล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันในเรื่องของเงินทุนไหลเข้าที่จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าด้วย โดยในปีงบประมาณ 61 นี้ คาดว่าจะเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ราว 3,300 ล้านดอลลาร์
"ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในส่วนของเราเอง เพื่อจะช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าเงิน" นายศรพล กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ยังมีโครงการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการส่งออกในเรื่องการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถป้องกันธุรกิจตัวเองจากผลกระทบในเรื่องความผันผวนของค่าเงินได้ โดยโครงการดังกล่าวจะมีไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.61
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จะพบว่าไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เกิดข้อเสียเปรียบในเรื่องของราคาสินค้าที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ยกเว้นแต่สินค้าของไทยจะมีคุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้วเพื่อช่วยลดแรงกดดันในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้เชื่อว่ายังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อตลาดการเงินในภาพรวมได้
"กระทรวงการคลังทำเต็มที่แล้ว เม็ดเงินที่ใส่เข้าไป ทำไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถกระทบตลาดเงินในภาพรวมได้ คงต้องร่วมมือกับแบงก์ชาติว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในแง่ของค่าเงินสามารถจะแข่งขันได้ เราได้คุยกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าคลังทำไปเท่านี้แล้ว มีอะไรที่ทำได้อีก เราก็จะทำ"นายสมชัย กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า การที่เงินบาทแข็งค่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นการจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงก็อาจใช้แนวทางให้เงินไหลออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นการออกไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เช่น การส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการออกไปลงทุนในต่างประเทศ หรือแนวทางในการให้นักลงทุนสถาบันนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม เป็นต้น
"สิ่งที่พอจะทำได้คือ เร่งเงินที่เข้ามาให้ออกไป เช่น นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ อะไรที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อคนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศก็ต้องแก้ไข นักลงทุนสถาบันไปลงทุนต่างประเทศได้หรือไม่ ก็ต้องมาดูข้อจำกัดว่ามีอะไรบ้าง ถ้าเปิดได้ก็ควรเปิด ให้กองทุนไปดูว่าจะทำเพิ่มได้หรือไม่ หรือแบงก์ชาติจะทำอะไรเพิ่มหรือไม่" ปลัดกระทรวงการคลังระบุ