"คณิศ" มั่นใจศก.ไทย H2/61 โตได้ถึง 5% หากลงทุน EEC เดินหน้าตามแผน-เสนอแนวคิด"ธนาคารที่ดิน"รองรับการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2018 09:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มีโอกาสจะเห็นการเติบโตถึงระดับ 5% ได้ หากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC สามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยมูลค่าการลงทุนต้องอยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท จึงจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้อีก 2% ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ประมาณ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 60 ที่มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ประมาณ 2.96 แสนล้านบาท ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

สำหรับแผนการลงทุนใน EEC ช่วง 5 ปีแรก ประกอบด้วย 4 กลุ่ม 15 โครงการ โดยมีการประเมินงบการลงทุนรวมทั้งจากภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก เช่น โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก หรือสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าการลงทุน 1.58 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าการลงทุน 8.8 หมื่นล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 มูลค่าการลงทุน 1 หมื่นล้านบาท, โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ มูลค่าการลงทุน 6.43 หมื่นล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) มูลค่าการลงทุน 3.53 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

นายคณิศ กล่าวว่า โครงการ EEC ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองนั้น หัวใจของโครงการอยู่ที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา หากสามารถนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ EEC จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างมาก เพราะสนามบินอู่ตะเภาช่วยลดความคับคั่งของสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อการเดินทางใน 3 สนามบิน นอกจากนี้ ในอนาคตราว 10-15 ปีต่อจากนี้ สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์กลางของการขยายตัวของเมืองในแถบนี้ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวของเมืองออกไปราว 20-30 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์กลางสำหรับการขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตรสำหรับพื้นที่ในแถบนี้ด้วย

"ภายในปี 2566 โครงการสนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องเสร็จพร้อมกัน ปีนี้จะมีการทำทีโออาร์และหาผู้ลงทุน หลังจากปีก่อน ครม.ได้อนุมัติหลักการทำ 2 โครงการนี้ไปแล้ว เราคาดว่าจะหาผู้ลงทุนได้ไม่เกินปลายปีนี้ ดังนั้นภายใน 5 ปีจากนี้ไป จะเห็นรถไฟความเร็วสูงกับสนามบินขึ้นมาคู่กัน ซึ่งระยะแรกคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน แต่สามารถขยายไปได้ถึง 60 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ" นายคณิศกล่าว

นอกจากนี้ ได้เสนอแนวคิดให้กระทรวงการคลัง จัดทำธนาคารที่ดิน หรือแลนด์แบงก์ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการที่ดินในเชิงพาณิชย์รองรับการขยายตัวของเมือง รวมถึงให้มีที่ดินเพียงพอรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ว่าจะเป็นโครงการ EEC หรือโครงการอื่นๆในอนาคต ตลอดจนเป็นการป้องกันการเก็งกำไรที่ดินของนายทุนที่เข้าไปซื้อที่ดินล่วงหน้าได้ด้วย

"การทำแลนด์แบงก์สามารถทำได้เลย ไม่ติดขัดขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะสามารถให้บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกรมธนารักษ์ ทำได้ในรูปแบบกองทุนระยะยาวออกขายให้นักลงทุน เช่น ให้ผลตอบแทน 5% ก็ถือว่าทำได้เพราะเชื่อว่าราคาที่ดินจะขึ้นได้สูงกว่านั้น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินที่ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยหากมีการขายต่อก็จะต้องเสียภาษีเพิ่ม"

พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนที่สำคัญใน EEC ว่า กองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการศึกษาและออกแบบแผนแม่บทสนามบินในพื้นที่ฝั่งตะวันตก จำนวน 6,500 ไร่ สำหรับใช้ในการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่, Aviation Training Center และ Air Cargo ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.60 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะได้แผนแม่บทออกมา

โดยล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ลงนามว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ในการร่วมทุน PPP ในโครงการต่างๆ ซึ่งคาดว่าในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 7 เดือน โดยระหว่างนี้ กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการในเรื่องของการทำทีโออาร์ในแต่ละโครงการคู่ขนานกันไป และเมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาแผนแม่บทแล้วจึงจะสามารถออกทีโออาร์ได้ภายใน 3-4 เดือนต่อจากนี้ เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ออกแบบโครงการต่อไป

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พร้อมรับข้อเสนอของเลขาฯ EEC ไปศึกษา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังมีการจัดทำกฎหมายธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร โดยจะเน้นการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรอยู่ ซึ่งจะไปดูว่ากฎหมายสามารถเปิดให้ธนาคารที่ดินนี้ ทำที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ รวมถึงแนวทางการจัดการทำกองทุนฯ ก็จะเข้าไปพิจารณาเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ