นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลของ สนข.ได้ข้อสรุปว่า รูปแบบที่ 4 ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน มีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด
สำหรับการศึกษารูปแบบ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) 2.การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจาก N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) 3.การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และ 4.การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน
และจากผลการศึกษาสำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะเริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จำนวนสถานีเบื้องต้น 18 สถานี
โดยคาดว่าจะสรุปหลักการและอนุมัติโครงการภายในปีนี้ เพราะตอนนี้ได้รูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน ประชาชนยอมรับมากขึ้น จากการรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเป็นสายที่ 11 ส่วนระบบอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นโมโนโนเรล หรือ ไรท์เรล ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมีความต้องการรถไฟฟ้า ซึ่งการก่อสร้างอาจจะกระทบแนวรั้วของมหาวิทยาลัยบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป
"การขยายระบบรางให้ครอบคลุมเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรถไฟฟ้าสีน้ำตาลจะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีระยะทาง 480 กม." นายไพรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ทางด่วน N2 ลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างวงแหวนตะวันออกและตะวันตกสะดวก ซึ่งแนวทางด่วนจะใช้เชื่อมมายังถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมกับทางด่วนศรรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพิ่มเติม
ในส่วนของระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยาย ไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา โดยแนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และ 2.ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
ทั้งนี้ สนข.จะได้นำเสนอ คจร.เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการ ก่อนมอบหมายให้ สนข.พิจารณาระยะเวลาการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่เหมาะสม และมอบหมายการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบทางด่วนทดแทน ตอน N1 ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 และ E-W Corridor เพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร