ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ 4.0% (กรอบการประมาณการ 3.5-4.5%) แม้ว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาล) กลับให้ภาพที่ชะลอลง ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการหดตัวของผลิตภาคเกษตรในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 จากปัญหาอุทกภัย และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรหดตัวลง และเมื่อประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลักที่ยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ทำให้รายได้เกษตรชะลอลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขภาคการค้าส่งและค้าปลีกในไตรมาสดังกล่าวกลับขยายตัวสูงขึ้นสวนทางกับรายได้เกษตรกร ซึ่งนอกเหนือจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เติบโตดีแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอานิสงส์ของมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ยังเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ในขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นตัวหนุนเพิ่มเติมจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐภายใต้งบกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ( 5 หมื่นล้านบาท สำหรับชดเชยเงินคงคลัง) คาดว่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจท่ามกลางรายได้เกษตรกรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรหลักในหลายตัวที่ยังถ่วงอยู่
การส่งออกของไทยคาดว่าจะยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวส่งผลต่อปริมาณการค้าโลกยังรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ในปี 2561 นี้ แต่อาจจะชะลอลงตามผลทางด้านราคา โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรส่งออกหลัก ๆ อย่างยางพารา สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เป็นต้น
การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศมีทิศทางดีขึ้น โดยการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในแผนการดำเนินงานปี 2561 และมีการดำเนินล่าช้าในปี 2560 จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561 เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 5 สาย โครงการรถไฟฟ้า รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ที่แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็คาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนภาครัฐมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่าปีก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรที่โตต่อเนื่องสอดคล้องไปกับภาพการส่งออกที่ขยายตัวสูง
ทั้งนี้ การผ่านพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC)ช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้ดีขึ้น ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายคงจะทยอยเห็นผลในปีถัดๆ ไป โครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในพื้นที่ EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ท่าอากาศยานนานาชาติ และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมถึงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนน่าจะทยอยเกิดขึ้นในปีนี้ได้หลังจากพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติในพื้นที่ EEC คาดว่า จะทยอยเกิดขึ้นในปีถัดๆ ไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ไทยมีฐานรองรับอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการลงทุนรัฐและเอกชนในปี 2561 นี้ ไว้ที่ 4.3%
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามประเด็นการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจจะส่งผลต่อเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และเป็นแรงกดดันต่อทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า รวมถึงเส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากเฟดเดินหน้าปรับดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 นี้ตามที่ส่งสัญญาณจะทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าของไทย และอาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนกลับทิศทาง และในขณะเดียวกันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจจะปรับตัวขึ้นตามสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินในประเทศที่เพิ่มขึ้น