พพ.-สภาวิศวกร เซ็น MOU สร้างองค์ความรู้-พัฒนาบุคลากรตรวจรับอาคารอนุรักษ์พลังงาน รองรับกฎกระทรวงที่คาดบังคับใช้ในต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 20, 2018 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ก.พ.) พพ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฏหมายร่วมกับ สภาวิศวกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านตรวจรับรองแบบอาคารให้เป็นไปตามกฏกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... (Building Energy Code : BEC) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2561

ทั้งนี้ ขอบเขตความร่วมมือใน MOU นี้ที่สำคัญ ได้แก่ 1.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสามารถตรวจรับรองแบบอาคารตาม BEC 2.ร่วมจัดฝึกอบรมและทดสอบ โดยสภาวิศวกรหรือโดยสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมและนิติบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาวิศวกรหรือสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมและนิติบุคคลอื่นๆ โดยออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมและทดสอบ 3.ร่วมจัดอบรมและตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้โปรแกรมที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน 4.ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการออแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้เหมาะสม ทันสมัยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ ฯลฯ โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี

สำหรับกฏกระทรวงดังกล่าว จะบังคับใช้กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคารได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน(หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปต้องออกแบบอาคารภายใต้เกณฑ์ที่ระบุในกฏกระทรวง เช่น ระบบปรับอากาศ ไฟฟ้าแสงสว่าง ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานหมุนเวียนฯลฯ โดยการบังคับจะเริ่มจากอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อน โดยปีที่ 1 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป ปีที่ 3 บังคับกับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.

"ความคืบหน้าร่างกฎกระทรวงฯ BEC กระทรวงพลังงานจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 7 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเข้าสู่กระบวนการทางกฏหมายผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอครม.เห็นชอบอีกครั้ง จึงประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2561"นายประพนธ์ กล่าว

นายประพนธ์ กล่าวว่า พพ. ได้เตรียมการรองรับการใช้กฎกระทรวงฯ BEC ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา พพ. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ สภาสถาปนิก และภาคเอกชน 6 แห่ง ได้แก่ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) บริษัท นารายณ์ พร็อพเพอตี้ จำกัด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ -ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยพะเยา ที่จะได้ร่วมกันพัฒนาบุคลลากร และทำให้เกิดการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน สอดรับกับกฏกระทรวงฯ BEC ดังกล่าวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ