ธ.ออมสินคาดตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยปีนี้โต 6% ตามยอดโอน-ดอกเบี้ยต่ำหนุน-ศก.ดีขึ้น แม้หนี้ครัวเรือนสูงยังน่ากังวล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 21, 2018 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงานสัมมนาทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปี 61 หัวข้อ "แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย" ว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้านลูกค้ารายย่อยในปี 61 คาดว่าจะมีการเติบโต 6% หรือมาอยู่ที่ 3.67 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่ 3.45 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตในระดับใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้านลูกค้ารายย่อยเติบโตขึ้นตามการโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีเพิ่มขึ้นขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการเติบโตตามการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ยังมีการเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยจะเติบโตขึ้นไม่มากราว 3.5% ต่อปี แต่แนวโน้มยอดขายเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าที่ 5.5% และมีมูลค่าขายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11%

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อมีตัวเลือกมากขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อความมั่นใจและทำให้การตัดสินใจซื้อกลับมาดีขึ้น ส่งผลกระตุ้นต่อความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

โดยในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธนาคารในปี 61 ยังมีแนวโน้มเติบโต 3-4% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 8.5 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 60 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในภาพรวมยังคงเป็นปัญหาที่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญ จากภาวะหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง หรือคิดเป็น 80% ของจีดีพี เนื่องจากลูกค้ามีการก่อภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังเห็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 3.23% โดยภาพรวมของการแก้ปัญหาการกู้ทางสถาบันการเงินต่างๆ จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยตรวจสอบลูกค้าในเบื้องต้นก่อนยื่นกู้เพื่อทำให้ได้ลูกค้าที่มีคุณภาพ และทำให้แนวโน้มของ NPL ของสถาบันการเงินมีทิศทางที่ดีขึ้น

นายชาติชาย มองว่า ยังมีโอกาสเกิดภาวะฟองสบู่ไนตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยอีกครั้ง แต่ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก แม้ว่าซัพพลายของตลาดจะมีออกมามาก และมีสต๊อกไนบางทำเลเหลืออยู่มาก โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ในหัวเมืองใหม่ๆ แต่สต๊อกส่วนใหญ่เป็นเงินของผู้ประกอบการที่ลงทุนเองมากกว่าการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาพัฒนาเหมือนช่วงก่อนปี 40 เนื่องจากผู้ประกอบในปัจจุบัน โดยเฉพาะรายใหญ่มีความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินมาก มีหนี้สินต่อทุนที่ต่ำเฉลี่ย 1 เท่า และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ