นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "Digital Intelligent Nation 2018" ในหัวข้อ Thailand’s development landscape forward ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยเริ่มมีการฟื้นตัวมากขึ้น และน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้จะเติบโตได้ราว 4.1% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.9% หากความเชื่อมั่นยังคงดีอยู่ และการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการส่งออกที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค.61 เติบโต 17.6% สูงสุดในรอบ 62 เดือน ซึ่งหากช่วยกันประคับประคองให้เป็นลักษณะเช่นนี้ก็เชื่อว่าในปีนี้จะนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ มองช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงของโอกาสและความเสี่ยงของประเทศ โดยโอกาสคือการที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศอาเซียนหลายประเทศก็มีความน่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือเป็นศูนย์กลางของการลงทุน การท่องเที่ยว และการค้าขายของอาเซียน และแม้ว่าวันนี้ทุกอย่างอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เศรษฐกิจรากหญ้ายังมีปัญหาอยู่และต้องใช้เวลาแก้ไขพอสมควร ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานก็เริ่มดีขึ้น ความเชื่อมั่นเริ่มดีขึ้น โดยมองว่าประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็มองเป็นความเสี่ยง หากไม่ลงมือทำวันนี้ ในอนาคตข้างหน้าประเทศอาจแข่งขันยากขึ้น
นอกจากนี้ มองเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้หลายสิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การหาความรู้อย่างไม่จำกัด, รูปแบบการประกอบอาชีพ, การหางาน หรือแม้กระทั่งการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังทำให้ประเทศหลายประเทศเกิดการตื่นตัว ทั้งคนตื่น ธุรกิจตื่น เพื่อก้าวไปตามกระแสของดิจิตอล
"ประเทศไทยตื่นสาย เราเพิ่งตื่นจริงๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นวันนี้เราตื่นแล้ว จะเห็นได้ว่าธุรกิจคึกคักให้การเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐก็มีการลงทุน โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากนี้เราต้องปลุกให้คนไทยทั้งประเทศตื่นด้วย" นายสมคิด กล่าว
พร้อมกันนี้ การลงทุนในด้านของดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งภาครัฐและภาคเอกชควรจะมีการลงทุนไปสู่ทุกคนในประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งกระทรวง DE และกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็ดี อย่างน้อยที่สุด อินเตอร์เน็ตหมู่บ้านต้องไปให้ถึง และต้องลงไปฝึกฝนให้ความรู้แก่ประชาชน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงเทคโนโลยี รวมถึงลงไปยังโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานราชการทุกแห่งอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการขับเคลื่อนของประเทศให้มาจากดิจิทัล เช่น การสร้างการขายผ่าน e-Commerce เป็นต้น และถ้าเมื่อไหร่ที่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศได้ การเติบโตจะเป็นลักษณะ Exponential หรือการเติบโตแบบยกกำลัง โดยมองธุรกิจ SMEs จะเป็นกำลังหลักในการช่วยกันผลักดัน คาดว่าปีนี้หากเกิดการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนแล้ว การเติบโต GDP น่าจะเกินกว่า 4.1% ได้อย่างแน่นอน
นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานด้านดิจิทัลของภาครัฐ ขณะที่ได้มีนโยบายไปถึงหน่วยงานราชการต่างๆแล้วว่าให้ทุกแห่งต้องเซ็ตระบบ BIG DATA และสามารถเปิดเผยได้ เพื่อให้ภาคเอกชนหรือคนที่สนใจฐานข้อมูลต่างๆ นำไปศึกษาพัฒนา และต่อยอดในกิจการต่างๆได้ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนการชำระเงินให้เป็นระบบดิจิทัลอีกด้วย
"รัฐบาลที่จะผลักดันในสิ่งเหล่านี้ได้ต้องมีความเข้าใจ ต้องไม่กลัว และใน 3 ปีนี้ ใครจะมาเป็นรัฐบาลต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของการดูแลสกุลเงินดิจิทัล คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเดือน มี.ค.นี้ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์กำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขาย ICO ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
"เราไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ แต่หากจะทำทุกอย่างมันต้องมีคนดูแล เหมือนการลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องมีคนกำกับดูแล มีกฎเกณฑ์ของมัน อันนี้ก็เช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่ามันมีความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามารองรับ" นายสมคิด กล่าว