นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ช่วงนี้จะเห็นชัดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับอานิสงส์ดีขึ้นจากการส่งออกที่เป็นผลมาจากดีมานด์และการฟื้นต้วของเศรษฐกิจโลก แต่ในภาวะที่โลกยังมีสภาพคล่องส่วนเกินค่อนข้างสูง และยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ หลายด้าน จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกได้ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นลดลงอยางรุนแรงทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐปรับขึ้นแรง และการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ค่อนข้างอ่อนไหวกับข่าวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงไม่อาจจะชะล่าใจได้ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความผันผวนสูงขึ้น เช่น หากกค่าจ้างแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นเร็วจะมีความเป็นไปได้ที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาดสหรัฐฯ ปรับขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆ ที่ต้องพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศหรือมีการกู้ยืมจากต่างประเทศค่อนข้างมาก
"นี่คือตัวอย่างของปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในโลกตอนนี้มีความเชื่อมโยงทางการเงินสูงขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น สิ่งสำคัญเราต้องไม่ชะล่าใจ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน การกระจายความเสี่ยงของลูกค้าไปกลุ่มต่างๆ "นายวิรไท กล่าว
แต่อย่างไรก็ดี มองว่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีกันชนที่สามารถรองรับต่อความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้ดี
นายวิรไท ยังมองว่า ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันทีตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งจำเป็นต้องตอบโจทย์การดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ประเทศไทยเองไม่ได้มีการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศมากเหมือนเช่นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นยังมีความเชื่อมโยงกับตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างสูง