นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของปี 2560 (มกราคม – ธันวาคม) เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 3.7% และดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่ LPG เพิ่มขึ้น 3.4% และ NGV ลดลง 12.1%
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ย อยู่ที่ 30.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 8.2% และแก๊สโซฮอล์ 91 มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10.6 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 4.4%
ด้านภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 28.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 4.2% โดยแก๊สโซฮอล์อี 85 มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 18.0% เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ผลิตใหม่ที่รองรับแก๊สโซฮอล์ อี 85 เข้าสู่ท้องตลาดมากขึ้น รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 11.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 10.0% เนื่องมาจากราคาขายปลีกที่ปรับตัวใกล้เคียงกันกับแก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า ในขณะเดียวกันแก๊สโซฮอล์อี 20 มีการใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 8.8%
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62.2 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 2.7% ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.5% (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก) ซึ่งเดือน มี.ค. 2560 เป็นเดือนที่มีการใช้สูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.2 ล้านลิตร/วัน มีปัจจัยหลักมาจากการขนส่งและการเร่งทำงานให้แล้วเสร็จ ก่อนเตรียมตัวหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ และในเดือน ต.ค. 60 มียอดการใช้ต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 56.9 ล้านลิตร/วัน โดยมีปัจจัยหลักมาจากช่วงฤดูฝนและเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วง ส.ค.-พ.ย. ส่งผลให้การขนส่งสินค้าในประเทศชะลอตัว
การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันของปี 2560 อยู่ที่ 17.0 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาคยกเว้นภาคขนส่ง ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.0% สำหรับการใช้ในภาคอื่นๆ มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 5.7 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 14.7% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 6.6% และภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 2.1%
การใช้ NGV ของปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.8 ล้าน กก./วัน ลดลงจากปีก่อน คิดเป็น 12.1% โดยการใช้ NGV ลดลงเป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา และส่งผลให้มีสถานีบริการ NGV ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภทเชื้อเพลิง NGV จำนวนลดลงคิดเป็น 4.7% (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก)
สำหรับการนำเข้าส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศของปี 2560 มีปริมาณนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการนำเข้านำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 907 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 6.2% โดยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็น 52,157 ล้านบาท/เดือน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 67 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 13.6% และมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,289 ล้านบาท/เดือน โดยพบว่า มีการนำเข้าเบนซินพื้นฐาน และ LPG เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดีเซลพื้นฐาน เตา และอากาศยานลดลง สำหรับการนำเข้า LPG มีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ล้าน กก./เดือน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 42.1% เนื่องจากช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2560 มีโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซที่หยุดซ่อมบำรุงจึงกระทบต่อการผลิต LPG สำหรับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 200 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 13.6% โดยพบว่ามีการส่งออก เบนซิน ดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันเตา และ LPG ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ถึงแม้ในปี 2560 มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในประเทศ (จำนวน 6 โรงกลั่น) รวมจำนวนวันทั้งหมด 232 วัน และโรงแยกก๊าซ 81 วัน แต่พบว่ามีจำนวนวันสำหรับปิดซ่อมบำรุงน้อยกว่าในปี 2559 ที่มีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงรวม 321 วัน จึงส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปประเภท ดีเซลพื้นฐาน เตา และ อากาศยานลดลง ในขณะที่ การนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมีปริมาณมากขึ้นเนื่องจาก โรงกลั่นยังคงมีข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 2 ซึ่งนำไปใช้ในการผสมเพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 และ อี 85 ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮฮล์ประเภทดังกล่าวปริมาณการใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน