นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ช่วงนี้จะเห็นชัดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับอานิสงส์ดีขึ้นจากการส่งออกที่เป็นผลมาจากดีมานด์และการฟื้นต้วของเศรษฐกิจโลก แต่ในภาวะที่โลกยังมีสภาพคล่องส่วนเกินค่อนข้างสูง และยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ หลายด้าน จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกได้ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นลดลงอยางรุนแรงทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐปรับขึ้นแรง และการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ค่อนข้างอ่อนไหวกับข่าวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงไม่อาจจะชะล่าใจได้ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความผันผวนสูงขึ้น เช่น หากกค่าจ้างแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นเร็วจะมีความเป็นไปได้ที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาดสหรัฐฯ ปรับขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆ ที่ต้องพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศหรือมีการกู้ยืมจากต่างประเทศค่อนข้างมาก
"นี่คือตัวอย่างของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในโลกตอนนี้มีความเชื่อมโยงทางการเงินสูงขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น สิ่งสำคัญเราต้องไม่ชะล่าใจ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน การกระจายความเสี่ยงของลูกค้าไปกลุ่มต่างๆ "นายวิรไท กล่าว
แต่อย่างไรก็ดี มองว่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีกันชนที่สามารถรองรับต่อความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้ดี
นายวิรไท ยังมองว่า ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันทีตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งจำเป็นต้องตอบโจทย์การดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ประเทศไทยเองไม่ได้มีการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศมากเหมือนเช่นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นยังมีความเชื่อมโยงกับตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างสูง
นายวิรไท ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มดีขึ้น โดยลดลงจากในเดือนม.ค.ที่พบว่ามีการเก็งกำไรค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากที่ธปท.ได้มีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมทั้งการส่งสัญญาณไปยังสถาบันการเงินต่างๆ และได้รับความร่วมมือที่ดีกลับมา
"เราส่งสัญญาณไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ว่าเราไม่ต้องการเห็นพฤติกรรมการเก็งกำไรที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของมาตรการป้องปรามเรื่องการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เห็นว่าสถาบันการเงินให้ความร่วมมือดีมากขึ้น และธุรกรรมเงินเข้าออกไม่ได้หนาแน่นเหมือนในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา" ผู้ว่าฯธปท.ระบุ
สำหรับทิศทางและการเคลื่อนไหวของค่าเงินนั้น มีส่วนสำคัญมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น มาจากสาเหตุที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก เช่น เงินยูโร เงินเยน อันเป็นปัญหาจากความมั่นใจที่ลดลงต่อค่าเงินของสหรัฐฯ จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงทำให้เกิดความสนใจเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี จากที่เริ่มเห็นมูลค่าการนำเข้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นและแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนม.ค.ที่ผ่านมานั้น นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันในการแข็งค่าของเงินบาทลงได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือเป็นเครื่องสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ค่อนข้างดี เนื่องจากมีการนำเข้าที่ขยายตัวในหลายกลุ่ม ทั้งสินค้าขั้นกลาง สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าทุน ซึ่งเป็นผลจากดีมานด์ของกิจกรรมการลงทุนในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจนนำมาสู่การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึงการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในเรื่องของคริปโตเคอเรนซี ตลอดจนการระดมทุนในสกุลเงินดิจิทัล (ICO) นั้น ขณะนี้คณะทำงานด้านกฎหมายกำลังทำงานกันอย่างเข้มแข็งและคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการออกหลักเกณฑ์ที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และยังต้องมีการตีความในข้อกฎหมายให้ละเอียดรอบคอบก่อน
"การออกเกณฑ์ขอรออีกสักระยะ เพราะยังมีประเด็นเรื่องการตีความทางกฎหมาย เมื่อมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น กรอบกฎหมายเดิมของเราอาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอ และการกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี และการลงทุนใน ICO หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อาจไม่ได้มีเพียงกฎหมายฉบับเดียวที่จะใช้ดูแลได้ กรณีคริปโตเคอเรนซี ก็มีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง จึงต้องดูเรื่องความสอดคล้องของกฎหมายด้วย ตอนนนี้คณะทำงานทางด้านกฎหมายกำลังทำงานกันอย่างเข้มแข็ง" ผู้ว่าฯธปท.กล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีเคยหารือกับสมาคมธนาคารไทยไปแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์ซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นผู้รับเงินฝากจากประชาชนนั้น ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตราสารหรือธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ไม่แน่ชัดว่าจะมีกลไกใดอยู่เบี้องหลัง หรือมีผู้ดูแลระบบ ดูแลเสถียรภาพของตราสารเหล่านั้นได้ดีเพียงใด
"เราได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์หลีกเลี่ยงการเข้าไปจัดทำผลิตภัณฑ์ หรือการลงทุนที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี การไปเป็นตัวกลางในการเสนอขาย การชักชวนลูกค้าให้เข้ามาลงทุน เราจึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นจากแนวนโยบายที่เราได้คุยกับสมาคมธนาคารไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต่างจากแนวปฏิบัติของหลายประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่าธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับเงินฝากจากประชาชน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก"นายวิรไทกล่าว