นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน แถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ "สัมปทานสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณครั้งใหม่" ว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอกรอบการประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มี.ค.61 และเปิดเงื่อนไขการประมูล (TOR) ในเดือน เม.ย.61 หลังจากนั้นจะคัดเลือกและรู้ผลได้ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.61โดยคาดว่าจะเจรจาต่อรองกับผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อนำไปสู่การลงนามสัญญาได้ในเดือน ก.พ.62 "เรื่องเปิดประมูลใหม่ต้องให้เกิดความชัดเจนภายในปีนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน" นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า หลังจากรายงานต่อที่ประชุมกพช.แล้ว ก็จะนำกรอบที่ได้รับการอนุมัติไปหารือกับกลุ่มเชฟรอน และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานของทั้งสองแหล่งในปัจจุบัน ก่อนจะนำบทสรุปไปเสนอต่อกพช.อีกครั้งในเดือนเม.ย. ก่อนจะออกประกาศเชิญชวนประมูลต่อไป ซึ่งล่าช้าจากเดิมที่เคยคาดว่าจะออก TOR ได้ภายในเดือนมี.ค.
เบื้องต้นกำหนดกรอบการประมูลหลัก 2 ประเด็น คือ 1.ในการลงทุนขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการจะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจำหน่ายให้ในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาปัจจุบัน ขณะที่ปัจจุบันทั้ง 2 แห่งมีกำลังการผลิตรวมที่ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการประมูล เพราะหากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวอาจจะทำให้เอกชนรายเดิมไม่ลงทุนต่อเนื่อง หรืออาจไม่เข้ามาลงทุนก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย
"การเปิดประมูลในช่วงรายเก่ากำลังผลิตในรูปแบบสัมปทานปัจจุบัน และจะเปลี่ยนการดำเนินการเป็นรูปแบบแบ่งปันผลผลิตจึงจำเป็นต้องหารือกับรายเก่าก่อนเปิดประมูล ซึ่งการคัดเลือกรายเก่าก็อาจจะเป็นผู้ชนะก็ได้"รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้นั้น เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 2 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ คือ โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันอยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ (MW) ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ของพื้นที่ภาคใต้อยู่ที่ 2,600-2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งแนวทางแก้ไขด้วยการดึงไฟฟ้าจำนวน 1,000 เมกะวัตต์ จากภาคกลางมาใช้ แต่ต้องดำเนินสร้างสายส่งเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาคอขวด รวมทั้งก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ให้มีกำลังผลิตรวมราว 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะทำให้พื้นที่ภาคใต้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองรวมกว่า 3,600 เมกะวัตต์ เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่
"รัฐบาลไม่ได้เลื่อนโครงการ (โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา) แต่ให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ขณะเดียวกันก็ให้ศึกษาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่เกิดความขัดแย้ง... ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และ อ.เทพา จังหวัดสงขลา นั้นยังมีเวลาในการพิจารณาทบทวนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป"นายศิริ กล่าว