พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ช่วงแม่แตง-แม่งัด บ้านทับเดื่อ ต.อินทชิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้สรุปภาพรวมการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำปิงตอนบนที่ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนว่า ที่ผ่านมาบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปิงมีทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากใน 44 พื้นที่ ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยการขุดเจาะอุโมงค์วางท่อส่งน้ำ และสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ด้านนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ว่า เป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ได้พระราชทานให้กรมชลประทาน (ชป.) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2519 มีความจุ 263 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร 175,000 ไร่ แต่ปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณสูงมากขึ้น จึงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการผันน้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงที่มีปริมาณน้ำเพียงพอจำนวน 2 แหล่ง คือ เขื่อนเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และลำน้ำแม่แตง โดยการเจาะอุโมงค์วางท่อน้ำ ซึ่งการส่งน้ำจะใช้ระบบควบคุมเชิงสั่งการในระยะไกลเพื่อการจัดการน้ำ หรือ SCADA ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำและแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมแบบ Real Time ทั้งนี้ การส่งน้ำจะทำในช่วงฤดูฝน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลำน้ำแม่แตง
ต่อมาในปี 2558 กรมชลประทานจึงขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง และอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด สมัยที่ พล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา สามารถสนับสนุนน้ำได้เพิ่มขึ้น 160 ล้าน ลบ.ม/ปี เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม รองรับการขยายเมืองในอนาคต อีกทั้งสามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ ตลอดจนช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้มอบนโยบายว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากร โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2558-2569 และขยายเป็นแผนยุทธทศาสตร์ฯ ระยะ 20 ปี รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ และจัดทำกฎหมายคือ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีความชัดเจน ตลอดจนการจัดอันดับความสำคัญของน้ำ คือ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศน์และน้ำเพื่อการเกษตร จัดทำระบบประปาหมู่บ้าน พัฒนาแหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทานเพิ่มขึ้น
พร้อมกล่าวว่า ในปี 2561-2565 รัฐบาลจะเริ่มแผนงานโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนและการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ตามลักษณะของพื้นที่ จำนวน 44 แห่ง อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา โครงการประตูน้ำศรีสองรัก จ.เลย โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ จ.สงขลา โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช โครงการเพิ่มปริมาณน้ำเชื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด เพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้า แต่อาจช้ากว่าแผนงานตามที่กำหนดไว้เล็กน้อย เนื่องจากปัญหาการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับการขุดเจาะอุโมงค์ผ่านหินที่ไม่แข็งแรงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังอยู่ในกรอบของแผนงาน
สำหรับภารกิจในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่แก้มลิงศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 จุดพื้นที่รับน้ำจากโครงการแม่แตงที่จะดำเนินการทำเป็นแก้มลิงให้แล้วเสร็จภายในปีนี้โดยเตรียมของบกลาง 107 ล้านบาท เพื่อมาใช้ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อที่จะรองรับน้ำในฤดูฝน
รองนายกรัฐมตรี กล่าวว่า การทำแก้มลิงต้องสามารถเชื่อมต่อกับระบบชลประทานให้สามารถรับน้ำและปล่อยน้ำ โครงการแก้มลิงมีประโยชน์ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่ใช้ดำเนินการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ รัฐบาลจึงต้องจัดหาพื้นที่ที่เป็นของส่วนราชการในการจัดทำโครงการแก้มลิง เช่น โครงการแก้มลิงแม่แตง ที่ได้มีการบูรณาการร่วมกับกองทัพบก กองการช่างทหาร และกรมชลประทาน ซึ่งคาดว่าหากโครงการนี้แล้วเสร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 65,000 ไร่ และผลิตส่งน้ำปะปาได้ถึงวันละ 30,000 ลบ.ม. ที่สำคัญสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงเกิดอุทกภัยได้อีกด้วย