(เพิ่มเติม) กสทช. แนะ 10 ภาคธุรกิจปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาพร้อม 5G คาดไทยเปิดใช้ปลายปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 23, 2018 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาในงาน "5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย"ว่า อุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับการมาของ 5G คือ การเงินการธนาคารที่ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความเร็วของเทคโนโลยีทำให้ธุรกรรมอยู่บนมือถือ, อุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจาก 5G จะเปลี่ยนไปสู่การใช้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังพึ่งแรงงานคนจำนวนมากจึงมีความเสี่ยง,

ด้านการเกษตร ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ Artificial Intelligent (AI) และ Internet of Things (IOT) จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และไปสู่การปรับตัวนำพืชพันธุ์ใหม่ๆมาปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต, ภาคการขนส่ง จะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่รวดเร็ว, ท่องเที่ยว, การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์ทางไกล และ Versual Reallity (VR) จะมามีบทบาทสำคัญต่อการดูและสุขภาพและรักษาโรค, ค้าปลีก ทำเลทองของการค้าไม่ได้อยู่ที่สถานที่แต่ไปอยู่บนโลกออนไลน์, การทำงานนอกที่ทำงานหรือ Telework, สื่อสารมวลชน 5G จะเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับข้อมูลข่าวสาร รูปแบบของการโฆษณา และบริการภาครัฐ ที่ต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนเอกชนให้สามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่การแข่งขันใหม่

"ผมไม่อยากเห็นองค์กรของรัฐทำหน้าที่ออกกติกาไปกำกับดูแลเอกชนอย่างเดียว แต่อยากเห็นหน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุนเอกชนให้เดินหน้าไปได้" นายฐากร กล่าว

นายฐากร คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มเห็นการใช้ระบบ 5G เกิดขึ้นในปลายปี 63 ขณะที่ญี่ปุ่นจะเริ่มทดลองใช้ในเดือนส.ค.62 และเปิดใช้เต็มรูปแบบในส.ค.63 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก

นายฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้เตรียมคลื่นความถี่ 1800MHz และ 2600MHz รองรับเทคโนโลยี 5G ขณะที่ ITU จะมีการประชุมเพื่อหารือในรายละเอียดเทคโนโลยี 5G อย่างไรก็ดี เมื่อมีการใช้เทคโนโลยี 5G จะมีการใช้งานคลื่นความถี่จะมากขึ้น เพราะมีการใช้งานดาต้าจำนวนมาก

ทั้งนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหรือสูงถึง 10% ของจีดีพี จากปัจจุบันมีสัดส่วน 4.5-5%ของจีดีพี

นายฐากร กล่าวว่า 5G เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไทยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศ และสังคมไทย เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. มีความพร้อมในการรองรับบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ และออกกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนบริการ 5G และพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

"เรายังมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 2 ปี เมื่อเทคโนโลยี 5G มา โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงแน่นอน ที่กล่าวถึง 10 กลุ่มธุรกิจต้องปรับตัว อย่างทีวีดิจิทัล ที่มีรายได้โฆษณาทีวีก็จะเปลี่ยนไป เพราะคนไปดูทีวีผ่าน Youtube หรือ Mobile หรืออย่างเรื่องค้าปลีก จะไม่มีทำเลทองแล้ว เพราไปอยู่บนออนไลน์...การจัดสัมมนาวันนี้ให้เราตื่นตัวและให้สังคมปรับตัว"นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ 5G จะต้องมีการเตรียมตัว สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุค 5G ที่เทคโนโลยีเร็วขึ้น 30-100 เท่า เครือข่ายมีเสถียรมากขึ้น จึงต้องปรับใน 4 เทคโนโลยีคือ IOT (Internet of Things) อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง, AI (Artificial Intelligent) ปัญญาประดิษฐ์, VR (Versual Reallity) เทคโนโลยีความจริงเสมือน และ AR (Augmented Reallity) เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพร กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ได้เตรียมการคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5G จะมีการใช้ IoT , AI และใช้รองรับอุตสาหกรรมได้ โดยแบ่งเป็นคลื่นความถี่อย่าง 700 MHz ที่ต้องไปเคลียร์กับทีวีดิจิทัลที่มีการใช้งานอยู่ และคลื่น 900 MHz, คลื่นความถี่ปานกลาง อย่าง KA Band และ C Band เป็นคลื่นดาวเทียมที่เป็นบรอดแบนด์ และคลื่นความถี่สูง เช่น คลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 MHz

ด้านนางสาว Nadine Allen ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G จะช่วยให้เกิดศักยภาพอย่างมากในทางธุรกิจ การสื่อสาร ด้านสุขภาพ การจราจรบนท้องถนนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งนี้คาดว่า ใน 8 ปีข้างหน้าหรือในปี 2569 เทคโนโลยี 5G จะสามารถเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจถึง 22% ทั้งนี้เชื่อว่าภาครัฐจะวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ไปสู่ยุค 5G ไปพร้อมๆ กับประเทศอื่นในโลก

ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเติบโตมาก โดยคาดปีนี้จะมีจำนวนกว่า 100 ล้านเลขหมาย จากปีก่อนมีจำนวน 65 ล้านเลขหมาย และคาดว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้ใช้ระบบ 4G และ 5G รวมกันราว 60%

ในต้นปีหน้า อีริคสันจะออกซอฟท์แวร์รองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะทำให้ 5G ใช้ได้จริง และอีริคสันจะเข้ามามีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้ดิจิทัลสมบูรณ์แบบ

นาย Anjian ประธานบริหารฝ่ายขายและการตลาดโซลูชั่นไร้สาย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 2G 3G และ 4G ได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของโลก และครั้งนี้ที่จะมีเทคโนโลยี 5G ก็เช่นกันที่จะเปลี่ยนวิถีของผู้คน เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศและคาดหวังว่าประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาใช้ 5G แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายปีในการใช้เชิงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ