นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนาโครงการบริหารความเสี่ยง FX (อัตราแลกเปลี่ยน) ว่า ผู้ส่งออก SMEs ไทยในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากผู้ส่งออก SMEs ไทยไม่มีข้อมูลความรู้เพียงพอที่จะเริ่มต้นหรือขยายการค้าขายไปตลาดต่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในภาวะที่ค่าเงินบาทผันผวน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับ 31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี โดยสอดคล้องกับทิศทางค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ รายได้ของผู้ส่งออกไทยลดลงเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ SMEs ไทยที่มีเงินทุนหมุนเวียนและกำไรจากการขายสินค้าในแต่ละล็อตไม่สูงนัก มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือกิจการสะดุดลง
EXIM BANK จึงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย จัดทำโครงการบริหารความเสี่ยง FX ของ SMEs ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ SMEs มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความรู้ทางการเงินอื่นๆ จากนั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมมูลค่า 30,000 บาทต่อกิจการ เพื่อนำไปใช้ทดลองซื้อ FX Options กับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ
นายพิศิษฐ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี SMEs ได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมสำหรับทดลองซื้อ FX Options ภายใต้โครงการบริหารความเสี่ยง FX ของ SMEs แล้วจำนวน 2,037 ราย คิดเป็นวงเงิน 61.11 ล้านบาท หรือประมาณ 41% จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการนี้จำนวนทั้งสิ้น 150 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา SMEs หลายรายลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของ FX Options ต้องการรอดูทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน และเห็นว่ายังมีเวลาตัดสินใจซื้อ FX Options ภายในเดือนมิถุนายน 2561 ก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดลง
EXIM BANK จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดสัมมนาโครงการบริหารความเสี่ยง FX (อัตราแลกเปลี่ยน) ของ SMEs ณ EXIM BANK ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะจัดอบรมทางออนไลน์ผ่านเทปบันทึกภาพการอบรม ณ EXIM BANK ในพื้นที่ทำการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาขาของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารยูโอบี (UOB) สำนักงานภาคของ ธปท. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) 11 จังหวัด สสว. สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
"ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่สามารถปิดความเสี่ยงได้ เพื่อไม่ให้ผู้ส่งออกต้องกังวลจนเสียเวลาในการประกอบธุรกิจ ธุรกิจไม่สะดุดหรือขาดทุนเนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การซื้อ FX Options เป็นทางเลือกหนึ่งของการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ภาครัฐต้องการให้ผู้ส่งออกไทยได้รู้จักและทดลองใช้ เพื่อเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นความแน่นอนของรายรับหรือกำไรจากการส่งออกสินค้าล็อตนั้นๆ" นายพิศิษฐ์กล่าว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่ยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก จากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย รวมถึงปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและอาเซียนที่ยังแข็งแกร่งทำให้ได้เห็นเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัว โดยที่ผ่านมาพบว่าทำได้อยู่ในเกณฑ์ดี และต้องมีการวางรูปแบบและกลยุทธ์ทางการค้า ซึ่งรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนในหลายเรื่องแล้ว
พร้อมระบุว่า ธนาคารฯ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ประกอบการเข้ามาอบรมในโครงการบริหารความเสี่ยง FX (อัตราแลกเปลี่ยน) ของเอสเอ็มอี ระยะที่ 2 ให้ได้ 5,000 ราย ภายในกลางปี 2561 หลังจากระยะแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 2,400 รายเท่านั้น และหลังจากนั้นจะมีการหารือร่วมกับ "ทีมไทยแลนด์พลัส" ประกอบด้วย เอ็กซิมแบงก์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), ธนาคารพาณิชย์ และภาคเอกชน เพื่อทบทวนและประเมินโครงการ รวมถึงเพื่อเป็นการหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม จากช่วงก่อนหน้าเน้นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนเป็นหลักไปแล้ว
"ต้องมาหารือร่วมกันว่าจะมีรูปแบบในการให้ความช่วยเหลืออะไรได้อีกบ้าง เช่น การให้ความรู้ในเรื่องการทำตลาดกับคู่ค้า เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการปรับตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุน ดังนั้นอาจจะเสนอแนวทางในการทำการตลาดกับคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม" นายพิศิษฐ์ กล่าว