ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์สินเชื่อในปี 2561 น่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า แม้ว่าตัวเลขสินเชื่อในเดือนแรกของปีจะลดลงก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่หดตัวลงแรงผิดปกติเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ของปีก่อนๆ โดยคาดว่าสินเชื่อจะทยอยฟื้นตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจก่อสร้างให้สูงขึ้น รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวดี จะช่วยเพิ่มปริมาณธุรกรรมสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก รวมถึงสินเชื่อเพื่อขยายและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่สินเชื่อรายย่อยคงยังอยู่ในสถานะประคองการเติบโต จากข้อจำกัดด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่การบริหารจัดการเงินฝากในปีนี้ ธนาคารหลายแห่งน่าจะยังเดินหน้าบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการชะลอการแข่งขันด้านราคาสำหรับเงินฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ และจากการที่หลายธนาคารทยอยเปิดให้บริการเงินฝากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ใช้สมุด เพื่อปูทางไปสู่โอกาสการประหยัดต้นทุนการดำเนินงานมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังสรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ม.ค.2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 7.9 หมื่นล้านบาท เป็น 10.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลง 0.72% MoM แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 4.23% ส่วนใหญ่ลดลงจากการชำระคืนสินเชื่อหมุนเวียนในภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี รวมทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากที่มียอดใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังขยายตัวดีต่อเนื่องตามอุปสงค์รถใหม่ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนภาพรวมเงินฝากเดือน ม.ค. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.81% MoM เป็น 12.20 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 7.11% โดยเงินฝากที่เข้ามาในเดือนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และเพิ่มขึ้นทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยทั่วไปยังทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงและยังไม่มีสัญญาณการแข่งขันด้านเงินฝาก โดยแคมเปญเงินฝากที่ออกใหม่ยังมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดลง แม้ว่าสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนกว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักจะบ่งบอกการฟื้นตัวที่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ อย่างทั่วถึงมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายที่สุดในรอบ 77 เดือน โดยนอกเหนือจากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าสินเชื่อแล้ว ในเดือนนี้ธนาคารยังมียอดตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน ม.ค. 2561 แตะระดับ 85.12% จากระดับ 91.20% ในเดือน ธ.ค. 2560 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับขึ้นเป็น 22.47% จากระดับ 21.66% ในเดือนก่อนหน้า