น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – มกราคม 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 738,345 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 28,381 ล้านบาท หรือ 4%
โดยมีสาเหตุจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 12,994 12,747 และ 1,251 ล้านบาท หรือ 34.5% 17.9% และ 0.7% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีรถยนต์ รายได้อื่นของกรมสรรพสามิต และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,212 1,955 และ 1,426 ล้านบาท หรือ 6.5% 470% และ 1.2% ตามลำดับ
"การจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น"น.ส.กุลยา กล่าว
ทั้งนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 508,406 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,488 ล้านบาท หรือ 1.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,889 และ 1,235 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2% (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.4%) และ 1.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5%) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,426 ล้านบาท หรือ 1.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.6%)
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 170,994 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,251 ล้านบาท หรือ 0.7% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.9%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,212 ล้านบาท หรือ 6.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.3%) เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีสูงกว่าที่ประมาณการไว้ รายได้อื่นของกรมสรรพสามิตจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,955 ล้านบาท หรือ 470% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 436.4%) เนื่องจากการนำส่งเงินค่าใช้จ่ายจัดเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดิน และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 505 ล้านบาท หรือ 2.5% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.7%)
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 37,694 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 706 ล้านบาท หรือ 1.8% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.9%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 1,110 ล้านบาท หรือร 3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.7%) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 14.6% และ 7.7% ตามลำดับ และสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า
รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 50,646 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,994 ล้านบาท หรือ 34.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.0) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) กองทุนรวมวายุภักษ์ (4) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ (5) การท่าเรือแห่งประเทศไทย
หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 84,057 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,747 ล้านบาท หรือ 17.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.9%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ และการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz สูงกว่าประมาณการ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,598 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 366 ล้านบาท หรือ 11.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.6%) โดยรายได้ด้านที่ราชพัสดุจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2.6% การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 89,529 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,030 ล้านบาท หรือ 9.2% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 77,729 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,871 ล้านบาท หรือ 11.3% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 11,800 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 841 ล้านบาท หรือ 7.7%อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,324 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,624 ล้านบาท หรือ 43.9% การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 5,486 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 375 ล้านบาท หรือ 6.4%
เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 3,494 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,181 ล้านบาท หรือ 38.4% เป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 จำนวน 9,619 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,379 ล้านบาท หรือ 16.7%
สำหรับในเดือนม.ค.61 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 190,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,766 ล้านบาท หรือ 2.6% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7.9%) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 3,357 1,842 และ 889 ล้านบาท หรือ 86.2% 10.8% และ 1.7% ตามลำดับ
สำหรับรายได้ที่จัดเก็บสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 1,898 ล้านบาท หรือ 11.4% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 13.6%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การจัดเก็บรายได้อื่นของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการ 1,854 ล้านบาท หรือ 1,670.3% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 1,807.8%) เนื่องจากการนำส่งเงินค่าใช้จ่ายจัดเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ภาษีสุราฯ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,388 ล้านบาท หรือ 26% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 30.7%) และภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,054 ล้านบาท หรือ 4.2% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8.5%) เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้