น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - มกราคม 2561) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 737,260 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,212,023 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 191,351 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 188,735 ล้านบาท
"ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ
สำหรับฐานะการคลังในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - มกราคม 2561) มีรายละเอียดดังนี้
รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 737,260 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,346 ล้านบาท (คิดเป็น 2.8%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G)
รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,212,023 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12,109 ล้านบาท (คิดเป็น 1%) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 1,124,596 ล้านบาท คิดเป็น 38.8% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,900,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.7% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 87,427 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 26.1%
รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 1,124,596 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 1,010,964 ล้านบาท (คิดเป็น 44.4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง 2,278,659 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.6% และรายจ่ายลงทุน 113,632 ล้านบาท (คิดเป็น 18.3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง 621,341 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.5%
ด้านดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาดดุล 526,374 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 474,763 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 51,611 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถอนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งวดที่ 10 – 12 จำนวน 27,072 ล้านบาท การส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดิน10,448 ล้านบาท และไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 2,937 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินโดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 191,351 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ จำนวน 335,023 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 188,735 ล้านบาท
สำหรับฐานะการคลังเฉพาะในเดือน ม.ค.61 มีรายละเอียดดังนี้
รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 191,784 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 24,611 ล้านบาท (คิดเป็น 14.7%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 244,567 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 10,460 ล้านบาท (คิดเป็น 4.1%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 226,828 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 1.3% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 200,378 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 5.1% และรายจ่ายลงทุน จำนวน 26,450 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 41.6% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 17,739 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 29.8%
การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 25,355 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 12,381 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 11,443 ล้านบาท และงบลงทุนของกรมทางหลวง จำนวน 7,109 ล้านบาท
ด้านดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมกราคม 2561 ขาดดุลจำนวน 52,783 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล จำนวน 30,310 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการประมูลตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 39,563 ล้านบาท และการถอนเงินฝากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 3,016 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 30,298 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุล จำนวน 7,825 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 188,735 ล้านบาท