BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 จับตาถ้อยแถลงปธ.เฟดคนใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2018 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.47 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.8 พันล้านบาทแต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 1.3 หมื่นล้านบาท

เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นหลังรายงานการประชุมเดือนมกราคมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของเฟดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ส่วนเงินปอนด์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจา Brexit

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะจับตาการแถลงนโยบายการเงินของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนใหม่ต่อสภาคองเกรส หากประธานเฟดแสดงท่าทีหนักแน่นต่อโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในระยะถัดไป ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานลงมาอีกรอบหนึ่ง นอกจากนี้ เงินยูโรอ่อนค่าลงหลังไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านสำคัญบริเวณ 1.25 ดอลลาร์ต่อยูโรได้ อีกทั้งนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลีวันที่ 4 มี.ค.ซึ่งอาจเป็นประเด็นสนับสนุนให้ตลาดกลับเข้าถือครองเงินดอลลาร์ในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี ซึ่งปรับขึ้นใกล้ระดับ 3.00% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นแรงซื้อดอลลาร์ แต่เชื่อว่าหากอัตราผลตอบแทนที่ขยับขึ้นสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของสหรัฐฯ ในระยะยาว แรงหนุนต่อเงินดอลลาร์จะขาดความต่อเนื่องในที่สุด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคยังคงออกมาสดใส ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยเดือน ม.ค.61 ขยายตัว 17.6% เทียบปีต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี อนึ่ง เรามองว่ากระแสการกีดกันการค้าในเวทีโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 24.3% บ่งชี้ถึงแนวโน้มเชิงบวกต่อทิศทางการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการที่ไทยขาดดุลการค้าเล็กน้อยเป็นเดือนที่สองติดต่อกันอาจช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ.61 ของไทยในท้ายสัปดาห์นี้จะอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน หลังผู้ว่าการธปท.ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นทันทีตามทิศทางดอกเบี้ยโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ