สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ม.ค.ขยายตัวทั่วถึง จากการฟื้นตัวของการบริโภค-ลงทุนภาคเอกชน-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2018 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม ปี 2561 โดยระบุว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม ปี 2561 ขยายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

  • ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนเอกชน รวมถึงภาคเกษตรกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 19.2% ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 35.6% และ 11.4% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนมกราคม อยู่ที่ 2,437 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 174.8% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี และระยอง เป็นสำคัญ ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม อยู่ที่ 1,053 ล้านบาท

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัว 4.9% และ 14.2% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเพิ่มขึ้นผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม (เบื้องต้น) 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 23.8% และ 2.3% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 5.9%ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม อยู่ที่ 6,660 ล้านบาท ขยายตัว 323.2% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดอุดรธานีเป็นสำคัญ จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.1% และ 9.5% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น จากการผลิตอ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม (เบื้องต้น) 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 0.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่อง 11.4% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 28.2% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 13.5% และ 48.9% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัว 4.4% และ 13.6% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และพังงา เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม ปี 2561 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 24.5% และ 5.4% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พิจิตร และ เพชรบูรณ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 14.6% ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 1,493 ล้านบาท ขยายตัว 292.7% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.6% และ 10.5% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นจาการขยายตัวของผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม (เบื้องต้น) 2561 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.1% ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 15.1% และ 2.2% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัว 8.3% และ 19.2% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และปทุมธานี เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม (เบื้องต้น) 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 1.0% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 15.8% ต่อปี ตามการขยายตัวของจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 27.4% และ 9.4% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 18.6% ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 968 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดราชบุรีเป็นสำคัญ ตามการลงทุนในโรงงานผลิตอาหาร

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.1% และ 11.1% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสงคราม กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม (เบื้องต้น) 2561 ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

  • ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 39.4% และ 10.9% ต่อปี ตามลำดับสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.6% ต่อปี นอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนมกราคม อยู่ที่ 659 ล้านบาท ขยายตัวที่ 18.6% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 6.7% และ 10.6% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และหมวดปศุสัตว์ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือมกราคม (เบื้องต้น) 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ