ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น โดยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศรวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) แล้ว เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
"คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงการรักษาสมดุลระหว่าง policy trade-offs ต่าง ๆ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมครั้งนี้ โดยเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ" รายงาน กนง.ระบุ
ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้
1) เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นแต่ยังไม่เข้มแข็ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว และเริ่มเห็นผลดีกระจายตัวไปในภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลง หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้กำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่เข้มแข็ง จึงต้องติดตามพัฒนาการของการบริโภคภาคเอกชนต่อไป โดยเฉพาะหลังผลของมาตรการภาครัฐในปีนี้ทยอยลดลง
นอกจากนี้ ช่องว่างของการออมและการลงทุน (saving-investment gap) ยังมีอยู่สะท้อนว่าการลงทุนยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก กรรมการบางส่วนเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และกำลังเผชิญกับการปรับตัวเชิงโครงสร้างหลายประการ โดยรวมแล้วคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังมีความจำเป็นต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น
2) อัตราเงินเฟ้อยังมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยได้รับแรงส่งด้านอุปทานจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นหลัก ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคาดว่าส่งผลต่อค่าจ้างทั้งระบบไม่มาก สำหรับแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ เห็นว่าปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน อาจทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลง เช่น การแข่งขันที่สูงขึ้นจากธุรกิจ e-commerce ทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ยาก ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป
3) เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด แม้ความเสี่ยงในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากอาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไปได้ เช่น การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร (underpricing of risks) จากพฤติกรรม search for yield ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดระดับบนและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed-use ออกสู่ตลาดมากขึ้น และพัฒนาการของสหกรณ์ออมทรัพย์ภายหลังจากเริ่มมีเกณฑ์การกำกับดูแลออกมา ซึ่งต้องติดตามผลการดำเนินการตามเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย ในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นจากทั้งด้านปริมาณตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ และด้านราคาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี ด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีแรงส่งเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น และการส่งผ่านผลดีไปสู่รายได้ครัวเรือนที่มากขึ้น รวมทั้งมาตรการของภาครัฐที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนโดยตรง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน สอดคล้องกับรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงนอกภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะมีแรงสนับสนุนการบริโภคเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายจากงบเพิ่มเติมปี 2561 ของรัฐบาลในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 และโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในระยะข้างหน้า
การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความชัดเจนขึ้นหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะจากกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติสูงกว่าที่ประเมินไว้ และกำหนดให้มีสัดส่วนงบประจำมากกว่าที่คาดไว้เดิม เป็นผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะสั้นเนื่องจากประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประจำสูงกว่างบลงทุน
ด้านการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงบ้าง จากการเลื่อนแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางโครงการ และการบังคับใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในระยะแรกที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ในระยะต่อไปคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นและเริ่มเห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ในกลุ่มแรงงานรายได้น้อยนอกภาคเกษตร แต่ในระยะข้างหน้าความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่ต้องติดตาม อัตราการลดลงของสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคกลับมาเร่งตัวขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ทางการเงินสูงกว่ากลุ่มอื่นและมีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับการก่อหนี้ของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต่อ GDP โน้มลดลง แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ
สำหรับพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำยังคงมีอยู่สะท้อนจาก (1) การลงทุนในกองทุนรวมสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2560 กองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท daily fixed income fund เร่งตัวขึ้น ขณะที่กองทุนรวมต่างประเทศ (foreign investment fund: FIF) ชะลอลงเนื่องจากต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้น (2) สหกรณ์ออมทรัพย์โดยรวมมีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่ชะลอลงเทียบกับช่วงก่อนหน้า แต่เงินรับฝากยังเติบโตเร็วกว่าสินเชื่อ สหกรณ์ออมทรัพย์จึงเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ระยะยาวเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ (3) ภาคเอกชนเริ่มกลับมาออกตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) มากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง
คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การลดลงของหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (deleveraging) ชะลอลง จึงควรพิจารณาแยกกลุ่มรายได้และประเภทของหนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะสม นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าราคาที่ดินใจกลางเมืองมีราคาสูงทำให้ผู้ประกอบการเลือกพัฒนาอาคารชุด high-end ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจตลาดและการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้สูงและชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น อาจกระทบต่ออุปสงค์ของลูกค้าต่างชาติได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) มีมากขึ้น ซึ่งกรรมการบางส่วนเห็นว่าในส่วนของพื้นที่อาคารสำนักงานยังมีอุปสงค์รองรับอยู่มากแตกต่างจากอุปสงค์ของพื้นที่ให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ โดยรวมคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการที่มีฐานะทางการเงินไม่เข้มแข็ง และอาจพึ่งพาการระดมทุนผ่าน unrated bonds
สำหรับภาวะตลาดการเงิน ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับลดลงจากมุมมองของนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk-off) มากขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงสวนทางกับของสหรัฐฯ จากความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทย, อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้น โดยในเดือนมกราคม ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเงินบาทแข็งค่าเร็วและมากกว่าหลายสกุลในภูมิภาคส่วนหนึ่งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงของไทย และการเร่งตัวของเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย ก่อนที่จะอ่อนค่าลงในเดือน กุมภาพันธ์ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ.
"ในระยะต่อไป อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป" รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินทุนไหลเข้าไทยในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า (1) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงของไทย ส่วนหนึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และ (2) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลในระดับสูงส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลบริการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการเกินดุลการค้า ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังมีแนวโน้มเกินดุลไปอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น อาทิ การเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีแผนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศรวมถึงการสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่มีเงินจำนวนมากนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ติดขัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้