นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่กรุงธากา บังกลาเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันไว้ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งตามกระบวนการแล้วจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศก่อน
ในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นความจำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) เพื่อเป็นกลไกในการขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม อุตสาหกรรมการก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้สามารถเร่งดำเนินการได้ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายการค้าตามที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้ากับบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีกำหนดจัดงานแสดงสินค้า "Thailand Week 2018" ณ กรุงธากา ระหว่างวันที่ 23-26 เมษายน 2561 รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าและผู้นำเข้าในกรุงธากาด้วย
นางอรมน กล่าวว่า บังกลาเทศได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนของไทยในบังกลาเทศ โดยปัจจุบันการลงทุนของไทยในบังกลาเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีภาคเอกชนไทยที่เข้าไปประกอบธุรกิจถึง 23 ราย โดยร้อยละ 60 เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และสาขาอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องหนัง และธุรกิจก่อสร้าง ทั้งนี้ ในปี 2561 บังกลาเทศมีแผนที่จะจัดงาน Trade and Investment Conference ที่ประเทศไทย เพื่อเชิญชวนนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนในบังกลาเทศในสาขาที่บังกลาเทศมีศักยภาพ อาทิ ยา อาหารแปรรูป ก่อสร้าง บริการสุขภาพ และท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของบังกลาเทศ โดยรัฐบาลบังกลาเทศมีมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในบังกลาเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น การลดภาษี สัดส่วนการถือหุ้น 100% และการเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งเอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศ (Outward Investment)
บังกลาเทศเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปอกระเจา ฝ้าย ชา ในปี 2560 บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 1,256 ล้านเหรีญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 33 มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน เครื่องสำอาง เป็นต้น และไทยนำเข้าจากบังกลาเทศมูลค่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
นอกจากนี้ บังกลาเทศมีนโยบายมุ่งเน้นตะวันออก (Look East) เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับจีนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ โดยอยู่ติดกับอินเดีย จีน และอาเซียน สามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป และมีข้อได้เปรียบเรื่องแรงงานที่มีทักษะ มีการศึกษา ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี และมีค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศอื่น