SCB EIC ชี้ CPI ก.พ.ชะลอลงตามเงินบาทที่แข็งค่า คงคาดทั้งปีอยู่ที่ 1.1%, Core CPI ทรงตัวที่ 0.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2018 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ชี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 0.42%YOY ชะลอลงจาก 0.68%YOY ในเดือนมกราคม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลงมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 10%YOY ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้ต้นทุนนำเข้าราคาน้ำมันดิบถูกลง แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่า 18%YOY โดยดัชนีราคาพลังงานขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.70%YOY นอกจากนี้ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ลดลงมาที่ระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังจากมีการลอยตัวราคาและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาอาหารสดยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ -1.53%YOY โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ส่งผลให้ในภาพรวมแล้วเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 0.63%YOY จาก 0.58%YOY ในเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น 1.11%YOY อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าบางหมวดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารยังคงลดลง เช่น ราคาของเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าที่ลดลง 0.03%YOY รวมถึงราคาสินค้าและบริการในหมวดการสื่อสารที่ลดลง 0.04%YOY

SCB EIC คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยฟื้นตัวเฉลี่ยทั้งปี 61 อยู่ที่ 1.1%YOY โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ตามข้อตกลงขยายระยะเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวมถึงการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมากตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นความท้าทายสำคัญต่อนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดย SCB EIC มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ตลอดปี 61 ที่ 1.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังซบเซาอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในภาพรวมมากนัก อย่างไรก็ดีต้องจับตาผู้ประกอบการบางส่วนที่ต้องแบกรับต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลให้ต้องปรับราคาสินค้าบางชนิดขึ้นตามไปได้ในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ