นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กสอ.มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) เพื่อสร้างปัจจัยเอื้อต่อการกระตุ้นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลด้านการออกแบบ โดยผนึกกำลังพันธมิตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านโครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ 4 สาขา
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กสอ.ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเสริมประสิทธิภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ, บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด และสถาบันพลาสติก จัดทำโครงการพัฒนา ผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยขึ้น เพื่อต่อยอดและพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ใน 4 สาขา ได้แก่ 1.สาขาถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์และผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์สาขาถ่ายภาพ เพื่อการพาณิชย์และสาขาผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ โดยมีพันธมิตรสำคัญ คือ บริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจคอนเทนต์ของประเทศไทย 2.สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิท เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ สู่การเป็นผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์คอมโพสิท โดยมีพันธมิตร คนสำคัญ คือ สถาบันพลาสติก 3.สาขาออกแบบตกแต่งร้าน (Visual Merchandising) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอการจัดแสดงสินค้าผ่านรูปแบบการดีไซน์ สีสัน เสียงเพลง ไปจนถึงการเลือกวัสดุตกแต่งให้ดึงดูดใจลูกค้า รวมไปถึงแสดงเอกลักษณ์ ดึงความเป็นตัวตนของธุรกิจตนเอง อันจะเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การเป็นนักออกแบบตกแต่งร้านอย่างมืออาชีพ โดยมีพันธมิตรสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 4.สาขาธุรกิจบริการไลฟ์สไตล์
สำหรับโครงการผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอผลงานทั้งรูปแบบภาพถ่ายรายการโทรทัศน์ การออกแบบตกแต่งร้าน การออกแบบธุรกิจบริการไลฟ์สไตล์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิทที่จะตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์และสะท้อนเอกลักษณ์ ดึงความเป็นตัวตนของผู้สร้างสรรค์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การเป็นนักธุรกิจ เชิงสร้างสรรค์มืออาชีพ เพื่อพร้อมรับกับบริบทการแข่งขันของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ การค้า ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่าง และสร้างสรรค์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนต่อไป
นางวันเพ็ญ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่าง ๆ ด้วยต้นทุนค่าแรงที่ยังต่ำและแผนการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ จนทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและทำให้ต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันการพึ่งพาฐานการผลิตจากต่างประเทศทำให้ภาคอุตสาหกรรม เน้นการนำเข้าเทคโนโลยีมากกว่าการพัฒนาเพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ระหว่างกึ่งกลาง โดยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถยกระดับไปสู่การแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการจัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนชุดใหม่ (Engine of Growth) ในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูงจากนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) ซึ่งมีกระบวนการคิดและผลิตที่แตกต่างจากระบบอุตสาหกรรมเดิม โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาให้มีศักยภาพ มีทักษะที่รอบด้าน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ