น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เผยผลประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้แทนระดับสูงจากสมาชิก 16 ประเทศได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจร่วมกันที่จะทำให้การเจรจา RCEP มีความคืบหน้าเพื่อให้สามารถสรุปผลได้อย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ พร้อมทั้งยินดีที่จะให้มีแผนงานสำหรับการเจรจาในปี 2561 เพื่อให้คณะเจรจาดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละรอบ
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ผลจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้การเจรจามีความคืบหน้ามาก โดยที่ประชุมร่วมกันหารือและมอบแนวทางการเจรจาในประเด็นสำคัญ โดยในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า ทุกประเทศตกลงให้มีการยื่นปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดครั้งที่ 3 ที่ครอบคลุมสินค้าทุกรายการ โดยให้เป็นไปตามโครงสร้างรูปแบบการลดภาษีตามที่อาเซียนเสนอภายในวันที่ 13 เม.ย.61 และตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-8 พ.ค.61 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
ในส่วนของการเปิดตลาดบริการ ซึ่งสมาชิกหลายประเทศเห็นว่าภาคบริการมีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยที่ประชุมตกลงที่จะให้มีการเจรจาสองฝ่ายไปพร้อมกับที่จะให้มีการปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดให้ตอบสนองต่อสาขาที่ประเทศสมาชิกสนใจ สำหรับการเปิดเสรีการลงทุน สมาชิกจะปรับปรุงข้อผูกพันเปิดตลาดการลงทุนก่อนการประชุมรอบที่ 22 และให้มีการเจรจาสองฝ่ายเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเรียกร้องและพยายามตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสมาชิกซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้การเปิดตลาดการลงทุนมีระดับสูงขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเห็นว่ากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าควรอยู่บนหลักการของความเรียบง่าย เอื้ออำนวยต่อการค้า ส่งเสริมโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการขนาดย่อม ตระหนักถึงกระบวนการผลิตที่ทันสมัยและเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค ในขณะที่สามารถป้องกันการลอบให้สิทธิพิเศษทางภาษีได้ ในส่วนของการเจรจากฎเกณฑ์การค้า เช่น พิธีการศุลกากร สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น มีเป้าหมายที่จะให้สรุปผลโดยเร็ว
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียนกับอินเดีย เพื่อผลักดันอินเดียให้หาข้อสรุปในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้และให้อินเดียสนับสนุนในประเด็นที่มีท่าทีร่วมกัน และการหารือร่วมกันระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อขอการสนับสนุนในประเด็นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จีนมีท่าทีที่สอดคล้องกัน โดยทั้งสองประเทศยอมรับที่ร่วมมือกับอาเซียนผลักดันประเทศสมาชิกอื่น เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้
ในส่วนของประเทศไทยได้แสดงบทบาทในการผลักดันร่วมกับสมาชิกอาเซียนในประเด็นต่างๆ เพื่อให้การเจรจาเป็นไปตามทิศทางที่อาเซียนต้องการ ทั้งนี้หากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ RCEP จะกลายเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมประมาณหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3.5 พันล้านคน มี GDP รวมกันมากกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมผู้ประกอบการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาค RCEP และตลาดโลกด้วย
สำหรับการค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 269 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58.66 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 10.85 โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังภูมิภาค RCEP ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล เหล็ก เป็นต้น