นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถึงงบประมาณของรัฐบาลในการลงทุนมูลค่า 123,784 ล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุน 90,000 ล้านบาท และได้สัมปทานผูกขาด 50 ปี ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขร่วมทุนที่รัฐบาลเสียเปรียบเอกชนเป็นจำนวนมากนั้น ขอชี้แจงดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สามารถสร้างผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลดระยะเวลาการเดินทาง ลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุ และลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาษีเข้ารัฐเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่ากว่า 650,000 ล้านบาท
โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ซับซ้อน การร่วมลงทุนกับเอกชนจะช่วยประหยัดงบประมาณและลดความเสี่ยงของภาครัฐ และยังช่วยให้ภาครัฐได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากภาคเอกชนอีกด้วย
2. หลักการในการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ เป็นการจัดสรรความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost มีจุดประสงค์เพื่อให้ภาครัฐโอนความเสี่ยงด้านปริมาณผู้โดยสารให้กับเอกชน ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงดำเนินการในส่วนของการเวนคืนที่ดิน หรือจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ และภาครัฐยังคงมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังจะเห็นได้จากโครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมา รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนจะร่วมลงทุนในส่วนของการจัดหาขบวนรถ เดินรถ และซ่อมบำรุง ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟฟ้าใต้ดินที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน
3. สำหรับวงเงินที่รัฐบาลร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น อยู่บนหลักการในการร่วมลงทุนไม่เกินมูลค่าก่อสร้างงานโยธา ตามผลการศึกษาหรือวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาตามที่เอกชนลงทุนจริง บนพื้นฐานหน้าที่ของรัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้วข้างต้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ของ รฟม. ที่ผ่านมา
4. การให้สัมปทานเอกชนเป็นเวลา 50 ปี เนื่องจากผลการศึกษาโครงการพบว่า ขนาดของโครงการที่มีเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูงและมีความเสี่ยงมาก จึงต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนมากกว่าโครงการโดยทั่วไป
5. รูปแบบการร่วมลงทุนดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในอีกหลายด้าน เช่น
5.1 ภาครัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงการขาดทุนจากการดำเนินงาน เช่น หากปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่ประมาณการไว้
5.2 ภาครัฐไม่มีความเสี่ยงด้านการเปิดให้บริการล่าช้ากว่า 5 ปี และสามารถควบคุมงบประมาณได้ เนื่องจากเอกชนจะไม่ได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และหากเอกชนมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ภาครัฐก็จะจ่ายเงินร่วมลงทุนเท่าเดิมโดยไม่เกินกรอบงบประมาณที่วางไว้ นอกจากนั้น สัญญายังกำหนดให้เอกชนต้องจ่ายค่าปรับหากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้าอีกด้วย
5.3 ภาครัฐมีโอกาสประหยัดเงินที่ร่วมลงทุนได้ หากมีการแข่งขันในการประมูล เนื่องจากเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน จะพิจารณาจากผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิคที่ขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐน้อยสุด
6. สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ เอกชนจะต้องลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 220,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะทยอยผ่อนจ่ายเงินร่วมลงทุนให้เอกชนในกรอบวงเงินไม่เกินค่าก่อสร้างงานโยธา หลังจากที่เอกชนก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว โดยจะทยอยจ่ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการ และช่วยลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐลงได้
"ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขการร่วมลงทุนดังกล่าว ได้คำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ ความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุน และการจัดสรรความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว โดยภาครัฐไม่ได้เสียเปรียบเอกชนแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาร่วมลงทุน ทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการก็จะตกเป็นของภาครัฐ" นายอานนท์ กล่าว