นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวในงาน CGS-CIMB Thailand Coporate Day 2018 - Investing in Sustainability ในหัวข้อ "Thai Economic Outlook" ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นตัวช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนการขนส่ง บริษัทต่างๆ สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบได้สะดวกมากขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน โดยสินค้าที่จะผลิตก็จะต้องเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือโดนเด่น แตกต่าง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการลงทุนภาคเอกชนในขณะนี้ถือว่าล่าช้าจากการลังเลที่จะเข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์ตลาดโลก, การส่งออกที่จะฟื้นตัวได้มากเพียงใดจากสงครามทางการค้าเริ่มร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง โดยบริษัทฯ มองว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมานั้น มีอยู่ 2 ประการ คือ เอกชนต้องมีการระบายสินค้าผ่านการส่งออกก่อน ซึ่งหากมีการระบายสต็อกสินค้าได้ จะส่งผลให้กำลังการผลิตเริ่มขยับ เอกชนก็จะเริ่มลงทุน รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ จากการเห็นโอกาสของนโยบายสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะทางด้านภาษีของโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
"ทุกวันนี้เราบ่นกันว่าเศรษฐกิจไทยโตได้บางกลุ่ม เช่น ภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว แต่ในประเทศเองค่อนข้างอ่อนแอ จะเติบโตแค่บางกลุ่ม ไม่ได้กระจายทั่วถึง โดยเชื่อว่าครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มกลับมา การกระจายรายได้น่าจะทั่วถึง" นายอมรเทพ กล่าว
พร้อมมองว่า โครงการลงทุนที่จะเรียกความเชื่อมั่นในระยะสั้นนี้ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนค่าเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ หรือถนน มอเตอร์เวย์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะเรียกนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาดและต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ โครงสร้างพื้นฐานในลักษณะของกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หากมีการผ่อนคบายกฎต่างๆ ที่จำกัด ก็จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น
นายอมรเทพ กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้จำนวน 4 ครั้ง หรือในทุกไตรมาส มองว่าอาจเกิดความผันผวนได้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ความไม่แน่นอนทางการคลังของสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย มองว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีการเติบโตในลักษณะเร่งตัวมากนัก โดยคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวได้ 4% ซึ่งยังขาดในเรื่องของการกระจายรายได้ โดยมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะรอดูในเรื่องดังกล่าวก่อน และอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 1/62
อย่างไรก็ตาม ธปท.ควรมีการสื่อสารให้ชัดเจนว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นอย่างไร นักลงทุนจะต้องจับตาอะไรบ้าง ทั้งภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะเศรษฐกิจ พร้อมแนะนักลงทุนอย่ารอให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะจะมีเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย และผลตอบแทนพันธบัตรของไทยที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ต้นทุนทางการเงินของบริษัทอาจจะขยับขึ้น ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และดอกเบี้ยนโยบายอาจจะยังคงที่ก็ตาม และน่าจะส่งผลให้การระดมทุนในตลาดเงินตลาดทุนอาจจะเริ่มตึงตัวขึ้น ซึ่งหากจะเร่งระดมทุนก็มองว่าเป็นโอกาสในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ อย่ารอจนตลาดมีแรงกดดันหรือภาวะตกใจในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้านนายเกษม พันธ์รัตนมาลา ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมองดัชนีหุ้นไทยในช่วงเดือนมี.ค.นี้ น่าจะอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยคาด SET จะปรับตัวลงมาแตะระดับแนวรับที่ 1,750 จุด หลังจากก่อนหน้านี้มีการปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก จากการคาดหวังต่อเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งนักลงทุนก็ได้ตอบรับปัจจัยดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงมา และอยู่ในภาวะที่ซึมๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการปรับฐานนี้มองเป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้น เนื่องจากมี valuation ที่ 16 เท่า และประเมิน EPS Growth ปีนี้จะอยู่ที่ 15% เป็นไปตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่คาด SET สิ้นปี 61 จะอยู่ที่ระดับ 1,875 จุด และมี P/E ที่ 15 เท่า "ปีนี้มองปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจะมาจากปัจจัยภายนอก คือในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และปัจจัยภายในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลขึ้น" นายเกษม ระบุ ทั้งนี้ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ยังมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการณ์ GDP ในเดือนเม.ย.61 ซึ่งยังรอดูตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของการส่งออก และการลงทุนในประเทศที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวมากนัก