นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดกลาง (วงเงินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท) จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 7,383 ล้านบาท โดยให้ไปดำเนินการดังนี้
1. ให้โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ)
2. ให้โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุคลองเตย ของบมจ. ทีโอที มูลค่าโครงการ 3,147 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 (ประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท)
3. ให้โครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ. 350 (บริเวณสนามกอล์ฟบางพระ) ของกรมธนารักษ์ มูลค่าโครงการ 1,536 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบให้เพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 32,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นของเมืองหลัก โดยขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ ทำให้โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 966,800 ล้านบาท โดยในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track นำเสนอคณะกรรมการ PPP จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 406,874 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและตะวันออก 195,642 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 131,172 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ 80,060 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value For Money: VFM) ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในการประเมิน ความคุ้มค่า และตัดสินใจระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกับภาครัฐดำเนินโครงการเองโดยการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด