ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามอย่างเป็นทางการ อนุมัติให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศ (safeguard) ในอัตรา 25% เพิ่มเติมจากมาตรการภาษีทั้งหมดที่มีการเรียกเก็บอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน โดยจะมีผลภายใน 15 วันหลังจากนี้ มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันการนำเข้าเหล็กให้ลดลงราว 13 ล้านตัน และกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้หันมาใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้นตามนโยบาย "American First" โดย ในระยะแรกการนำเข้าเหล็กจากแคนาดา และเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวก่อนเพื่อรอดูผลการเจรจา NAFTA ครั้งใหม่
SCB EIC ประเมินว่า ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ บราซิล เกาหลีใต้ รัสเซีย ตุรกี และญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 15 ล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณนำเข้าเหล็กทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยเหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นเคลือบ และท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯมีปริมาณนำเข้าเหล็กทั้ง 3 ประเภทสูงที่สุดกว่า 5.2 ล้านตัน 3.6 ล้านตัน และ 3.1 ล้านตัน หรือราว 15%, 19% และ 9% ของปริมาณนำเข้าเหล็กทั้งหมดในปี 2017 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กกล้าเส้น
ขณะที่ ปริมาณส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง 2 แสนตัน หรือเพียง 9% ของปริมาณเหล็กส่งออกทั้งหมดของไทยในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยที่คาดว่าจะสามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้น้อยลง ประกอบไปด้วย ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เหล็กแผ่นเคลือบ และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าส่งออกโดยรวมเพียง 7 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.07% ของมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของไทยในปี 60 เท่านั้น
ในด้านผลกระทบทางอ้อม ผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถนำเข้าไปในสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะถูกส่งออกมาทำตลาดในไทย โดยเฉพาะเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากรัสเซีย เหล็กเส้นจากตุรกี และลวดเหล็กจากจีน ที่ในปัจจุบันไทยยังไม่มีการใช้มาตรการป้องกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ เช่น ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บจากเกาหลีใต้ และเหล็กเคลือบจากเวียดนาม อีไอซี ประเมินว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ไหลเข้าไทยในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากไทยมีการเรียกเก็บ AD อยู่แล้วในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม SCB EIC แนะผู้ประกอบการไทย มุ่งหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อชดเชยการซื้อจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะหดตัวลง สำหรับตลาดท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ ผู้ประกอบการควรพิจารณาโอกาสในการขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์และกัมพูชา ที่มีการนำเข้าสูงถึง 2.4 แสนตันในปี 60 และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ขณะที่ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเลียม ผู้ประกอบการควรพิจารณาโอกาสในการส่งออกไปยังแอลจีเรีย ที่กำลังมีการลงทุนเพื่อขยายโรงกลั่นน้ำมันดิบในประเทศ และสุดท้ายสำหรับเหล็กแผ่นเคลือบ อีไอซี มองว่าผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสที่จะส่งออกไปยังเมียนมา และลาว ที่มีปริมาณนำเข้าในระดับสูงถึง 5 แสนตันต่อปี ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องกว่าปีละ 10%CAGR ในช่วง 5 ปีหลังสุด
นอกจากผลิตภัณฑ์เหล็กแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรจับตามองมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับสินค้าอื่นๆ อีกด้วย ปัจจุบัน ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการทางภาษีสำหรับยางวง (rubber band) และกรดซิตริก (critic acid) ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดและประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 61 ตามลำดับ ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย