นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2560 สามารถสร้างรายได้รวมที่ 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้จัดทำแผนการตลาดด้านการท่องเที่ยวไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจำนวนนี้เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.8 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตัวแปรสำคัญและครองสัดส่วนมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และเป็นรายได้จากคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) 9.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปี 2561 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันจากหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทำตลาดท่องเที่ยวมากขึ้น
ดังนั้นในปี 2561 กระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่โครงการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว ประจำปี 2561 เพิ่มขึ้นอีก 15 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและคำแนะในการป้องกันภัยจากการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวแนะนำนักท่องเที่ยวให้ทราบถึงช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์ ของกองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำคลิปบทบาทหน้าที่ของกองมาตรฐานพร้อมทั้งจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการเตือนภัยนักท่องเที่ยว จำนวน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ สำหรับแจกจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ทั้งนี้ โครงการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว เป็นโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ปัจจุบันมีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (ศูนย์ TAC) แล้วจำนวน 36 จังหวัด มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ทั้งสิ้น 221 คน และตั้งเป้าภายในปี 2562 จะเปิดให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกศูนย์ฯ ไม่น้อยกว่า 250 คน
ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว หรือ TAC : Tourist Assistance Center เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวเมื่อประสบเหตุทางการท่องเที่ยว ในปี 2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเปิดศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 30 จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ 8 แห่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ เลย สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครพนม มุกดาหาร ศรีสะเกษ ขอนแก่น หนองคาย และนครราชสีมา ภาคตะวันออก 5 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ตราด และระยอง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ 6 แห่ง ได้แก่ สตูล ระนอง ตรัง ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการและสามารถสื่อสารภาษาต่างๆ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอาหรับ เป็นต้น และในปีงบประมาณ 2562 จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย