นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 4 – 9 มีนาคม 2561 ซึ่งรัฐเอกราชปาปัวนิวกินีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก คือ "การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล" ว่า สมาชิกเอเปคได้พิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี การร่วมกลุ่มเศรษฐกิจ การดำเนินการเพื่อไปสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ อินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดจิ๋ว (MSMEs) เข้าสู่ตลาดโลก การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยง เป็นต้น รวมทั้งได้มีการทบทวนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเปิดเสรีการค้าการลงทุน (เป้าหมายโบกอร์) โดยสมาชิกเอเปคได้จัดตั้งกลไกการหารือระดับสูง "กลุ่มวิสัยทัศน์เอเปค" เพื่อกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี 2563 ให้สอดคล้องกับประเด็นทางการค้าใหม่ และรองรับบริบทเศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคได้ตกลงร่วมกันที่จะเร่งดำเนินการเตรียมการรองรับการจัดทำ FTAAP เพื่อให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว เช่น โครงการทบทวนโมเดลว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โครงการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา MSMEs ภายใต้ FTAPP และโครงการปรับปรุงกระบวนการแจ้งมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชต่อองค์การการค้าโลก เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกหารือในประเด็นที่ยังตกลงไม่ได้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์และเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก เช่น โครงการด้านความโปร่งใส ข้อริเริ่มเรื่องการส่งเสริมการพาณิชย์อย่างครอบคลุม เป็นต้น
นายรณรงค์ กล่าวว่า ไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์และองค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (TFA) ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนกลไกเอเปค เพื่อติดตามการใช้บังคับ TFA นอกจากนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับเปรูและเวียดนามในโครงการยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริม MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการส่งออกของ MSMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง โดยส่งเสริม MSMEs เข้าสู่ตลาดโลก ผ่านการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าถึงข้อมูลและกฎระเบียบการค้าของประเทศสมาชิกเอเปค ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดเอเปคต่อไป
"ไทยโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนโยบายการแข่งขันของญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าให้กับสมาชิกเอเปคเกี่ยวกับข้อบทนโยบายการแข่งขันภายใต้ความตกลงการค้าเสรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำ FTAAP"นายรณรงค์ กล่าว
เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัว-นิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ ในปี 2560 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่า 319,660.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.6 ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 164,216.97 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.4 และการนำเข้า 155,443.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.4