(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เดินหน้าผลักดันส่งออกข้าวไทยทั้งในตลาดเดิม-เปิดตลาดใหม่ มั่นใจทั้งปีนี้ตามเป้า 9.5 ล้านตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2018 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับราคาข้าวเปลือกยังคงมีเสถียรภาพ โดยทิศทางตลาดส่งออกข้าวไทยในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มที่ดี ล่าสุดรัฐบาลจีนตกลงนำเข้าข้าวงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน ภายใต้สัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) แล้ว และยังมีคำสั่งซื้อข้าวจากการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่ NFA จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบ G to P ปริมาณ 250,000 ตัน ภายในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ ตลาดข้าวไทยในภูมิภาคอื่นๆ ยังมีการสั่งซื้อข้าวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อสถานการณ์ตลาดข้าวของไทยและราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรจะได้รับ

ปัจจุบันตลาดการค้าข้าวโลกมีการแข่งขันสูง รัฐบาลไทยจึงได้มีแผนในการพัฒนาการค้าข้าวและผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยกำหนดทิศทางการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังผ่านการเร่งขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก เดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าวไทย โดยมีแผนจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สเปน จีน สหรัฐฯ เม็กซิโก สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ ตามลำดับ

รวมทั้งการรับรองคณะผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง อิรัก และอิหร่าน เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทยซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าวทั้งในและต่างประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคข้าวไทยเพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการแสวงหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทยทั้งในตลาดเดิมและการเปิดตลาดใหม่ในหลายรูปแบบข้างต้น รวมทั้งการที่ได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่กดทับราคาตลาดจนเหลือปริมาณไม่มากนัก จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาข้าวเป็นผลดีต่อเกษตรกร และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ประกอบกับยังคงมีปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิ ผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เช่น อินเดียและบังกลาเทศมีแนวโน้มลดลง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2561 ที่ปริมาณ 9.5 ล้านตัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - มี.ค. 61 ไทยส่งออกข้าวแล้วประมาณ 2 ล้านตัน มูลค่า 999 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 4.17 และ 22.13 ตามลำดับ

นายอดุลย์ กล่าวว่า กรมฯ จะเสนอแผนการระบายข้าวสต็อกรัฐบาลที่เหลือ 2.04 ล้านตัน ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 29 มี.ค.61 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.61 โดยจะนำข้าวแต่ละกลุ่มมาเปิดระบายกลุ่มละเดือนแบบยกล็อต หากระบายไม่หมดจะนำมาเปิดระบายรอบ 2 คือ ตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย.61 โดยตั้งเป้าหมายระบายให้หมดภายในปีงบประมาณ 61 เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาล

"รูปแบบการระบายจะเหมือนเดิม คือเปิดระบายยกคลัง โดยแต่ละเดือนจะพิจารณาว่าจะนำข้าวกลุ่มไหนมาระบายก่อน เช่น ถ้านำกลุ่ม 2 ระบายก่อน ก็จะเปิดประมูลทั้งหมด 1.5 ล้านตัน หากระบายไม่หมดแล้วเหลือเท่าไหร่จะนำมาระบายในช่วงที่ 2 ต่อไป ยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อราคาข้าวในตลาด เพราะข้าวเกือบทั้งหมดเป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับข้าวตลาดปกติที่คนบริโภค" นายอุดลย์ กล่าว

อนึ่ง ข้าวสต็อกรัฐบาลที่เหลือ 2.04 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค (กลุ่ม 2) ปริมาณ 1.5 ล้านตัน, ข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนและสัตว์บริโภค (กลุ่ม 3) ปริมาณ 500,000 ตัน และข้าวที่คนบริโภคได้ (กลุ่ม 1) อีก 40,000 ตัน ซึ่งเหลือจากการที่ผู้ชนะประมูลไม่มารับมอบข้าวตามสัญญา และเหลือจากการขายให้กรมราชทัณฑ์ โดยจะนำมาเปิดระบายครบทุกกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ