ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ก.พ.61 ครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 47.1 ในเดือน ก.พ.61 โดยครัวเรือนยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อประเด็นเรื่องรายได้และการจ้างงานตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน เม.ย.61 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนกลับมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะการเป็นหนี้ในปัจจุบันของครัวเรือน
ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.พ. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 46.7 ในเดือนม.ค. 2561 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางฤดูกาลอย่างเทศกาลวันตรุษจีนที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตของครัวเรือนบางส่วนที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. (เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561) ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากครัวเรือนมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า ทำให้ค่างวดที่ต้องชำระในเดือนก.พ. 2561 สูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการใช้จ่ายในประเทศของบัตรเครดิตที่ออกในประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ในเดือนม.ค. 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังเป็นหนี้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ครัวเรือนยังมีการกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนบางส่วนมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในระยะถัดไป
ส่วนภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนมี.ค. 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ประกอบกับสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าภายในประเทศคาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งทางด้านปริมาณและราคา โดยเฉพาะ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรดโรงงาน และสินค้าปศุสัตว์ เช่น สุกรและไก่พันธุ์เนื้อ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร