นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 5,607 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณรายจ่ายในปี 2561-2564 รวม 4 ปี ประกอบด้วย ค่าอาคารและสิ่งก่อสร้าง 3,626 ล้านบาท, ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ 1,917 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 63 ล้านบาท
"แหล่งเงินทุน จะมาจากรายได้ของ อภ.เอง 2,243 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นเงินกู้ในประเทศ 3,364 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของเงินกู้ในประเทศนั้น กระทรวงการคลังไม่ได้มีการค้ำประกันเงินกู้ให้ เนื่องจากเห็นว่าองค์การเภสัชกรรม มีรายได้เป็นของตนเอง" นายณัฐพรกล่าว
พร้อมระบุว่า การที่ อภ.เสนอขอก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 เนื่องจากโรงงานผลิตยา พระราม 6 มีข้อบกพร่องในเรื่องของอาคาร สถานที่ และระบบสนับสนุนการผลิตจากข้อจำกัดทางกายภายพของโรงงานผลิตยา เช่น โรงงานหลักที่ใช้ผลิตยามีอายุการใช้งานกว่า 50 ปี, สายการผลิตทุกประเภทตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน ทำให้การปรับปรุงข้อบกพร่องไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ เพราะอาจกระทบต่อกระบวนการผลิตยาในส่วนอื่น และโรงงานยังตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่อาจส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะปรับปรุงโรงงานผลิตยาพระราม 6 เพื่อรองรับมาตรฐาน GMP PIC/S นั้นต้องใช้เงินลงทุนสูง
นอกจากนี้ หาก อภ.ไม่ปรับปรุงโรงงานผลิตยาพระราม 6 ตามมาตรฐานดังกล่าวแล้ว อาจจะส่งผลถึงการประกอบการของ อภ.ในอนาคต ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้ เพราะ อภ.จะไม่สามารถรองรับการขยายตัวของปริมาณการผลิตยาที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประสบปัญหาด้านคุณภาพในการผลิตที่ อภ.อาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองการผลิตยา ทำให้ต้องระงับการผลิตยาได้ ดังนั้นการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 เพื่อทดแทนสายการผลิตยาที่โรงงานผลิตยาพระราม 6 จะทำให้ อภ.สามารถแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวได้ ตลอดจนเป็นการพัฒนาโรงงานผลิตยาให้มีความสามารถด้านการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 อยู่บนพื้นที่เดียวกับโรงงานผลิตยารังสิต 1 บนที่ดินราชพัสดุที่ อภ.เช่าจากกรมธนารักษ์ บริเวณคลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เนื้อที่ประมาณ 98 ไร่