พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานเรื่องนโยบายการบริหารห้วงอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ทั้งนี้ ครม.เห็นควรให้มีการบริหารจัดการห้วงอากาศใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลของ FUA (Flexible Use of Airspace) เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดใจของผู้ประกอบการด้านการบิน โดยจะไม่กำหนดเป็นพื้นที่ตายตัว แต่จะบริหารจัดการห้วงอากาศให้มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมกับผู้ใช้งานในแต่ละห้วงเวลาให้มีความเหมาะสมมากที่สุด
"พื้นที่ทำการบินทั้งหมดของประเทศไทย 777,760 ตารางกิโลเมตร แต่เดิม 50% ใช้ไม่ได้ วันนี้จะมีการบริหารจัดการใหม่ ปฏิบัติการร่วมกันของหน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงคมนาคม และการบินพลเรือน" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
สืบเนื่องจากที่ผ่านมามีการกำหนดพื้นที่เดินอากาศแบบตายตัว โดยมีการกำหนดพื้นที่หวงห้ามสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ เช่น สถานที่ตั้งหน่วยทหาร, พื้นที่กำกัก ได้แก่ พื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น/พื้นที่เขตท่าเรือ/พื้นที่เขตปลดปล่อยน้ำมันจากอากาศยานทหาร, พื้นที่อันตรายที่มีการฝึกทางทหารรบ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็น 50% ของพื้นที่การบินในเขตน่านฟ้าไทยทั้งหมด (777,760 ตารางกิโลเมตร) จึงควรจะมีการบริหารจัดการใหม่
ดังนั้น จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลใน 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, ระดับยุทธการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการห้วงอากาศ และระดับปฏิบัติการ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ