สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย ยันเหล็กลวดไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าเหล็กของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว คือ อุตสาหกรรมท่อและอุตสาหกรรมเหล็กรีดเย็น แต่ยังมีเวลาที่จะให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเสนอข้อร้องเรียน
พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะให้กรมการค้าต่างประเทศบังคับใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เช่น AD และ มาตรการ Safeguard รวมทั้งเร่งบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน (Anti Circumvention : AC) เนื่องจากพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน (Anti Circumvention : AC) จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้มีบทบัญญัติที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนได้ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขณะที่มองปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมเหล็กลวด ได้แก่ ประเด็นการปิดโรงงานด้อยมาตรฐานที่ก่อมลพิษในระดับสูงของประเทศจีนที่อาจทำให้มีการย้ายเครื่องจักรเก่ามาลงทุนในประเทศไทย
นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมควรมีการควบคุมการลงทุนในการผลิตใหม่อย่างใกล้ชิด เช่น ให้มีการลงทุนเฉพาะโรงงานใหม่ที่มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ด้วยกำลังการผลิตเหล็กลวดรวมในปัจจุบันสูงกว่าความต้องการของตลาดอยู่แล้ว และควรมีการควบคุมการปล่อยของเสียอย่างเข้มงวด ประเด็นอื่นที่สำคัญ ได้แก่ การนำเข้าอันอาจเข้าข่ายการทุ่มตลาดจากประเทศเวียดนามอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นายธีรยุทธ กล่าวถึงภาพรวมและอนาคตอุตสาหกรรมเหล็กลวดไทยปี 2561 ว่า ปริมาณความต้องการประมาณ 2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากกำลังการผลิตในประเทศปัจจุบัน 2,250,000 ตันต่อปี โดยยังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะเอื้ออำนวยให้ความต้องการสูงขึ้นหรือจะทำให้ลดลง ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเหล็กลวดยังทรงๆ
ในส่วนของโครงการการลงทุนในภาคเอกชนในการก่อสร้างยังคงชะลอตัว การลงทุนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นการลงทุนในระบบการคมนาคมพื้นฐานและการก่อสร้างของภาครัฐ สมาคมฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศเพื่อให้เกิดการสร้างงานและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ เช่น ประเทศอินเดียที่ออกนโยบาย Make In India ด้วยในปัจจุบันพบว่ามีงานโครงการภาครัฐหลายโครงการที่มีการระบุการใช้สินค้าตามมาตรฐานต่างประเทศ หรือเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แม้ว่าผู้ผลิตในประเทศจะมีความสามารถในการผลิตสินค้านั้นๆ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ
สำหรับสถานการณ์วัตถุดิบนั้น ราคาแร่เหล็กและเศษเหล็กมีความผันผวนอย่างมาก ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เช่น กราไฟต์อิเล็กโทรต (สำหรับโรงงานหลอมเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า) วัสดุทนไฟ Ferro Alloys และแมกเนไซต์ เนื่องจากความพร้อมของวัตถุดิบในตลาดมีปริมาณลดลง การจำกัดปริมาณการทำเหมืองแมกเนไซต์ของประเทศจีน นอกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนด้านแรงงานก็ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
ขณะที่ราคาได้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนได้ทั้งหมด เนื่องด้วยความต้องการตลาดต่ำกว่ากำลังการผลิตในประเทศ อีกทั้งยังมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในราคาต่ำ