น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการเปิดให้บริการพร้อมเพย์ ตั้งแต่ 27 ม.ค.60 ที่ผ่านมา จากข้อมูลล่าสุดจนถึงปัจจุบันพบว่ามีประชาชนลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์แล้วประมาณ 39 ล้านบัญชี โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 66% ส่วนที่เหลืออีก 34% เป็นการลงทะเบียนโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นยอดรวมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ประมาณ 1.1 ล้านรายการ/วัน หรือคิดเป็นยอดทำธุรกรรมทั้งหมด 127 ล้านรายการ และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การใช้บริการพร้อมเพย์ในส่วนของภาคประชาชนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น และเข้าถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดจากการโอนเงิน/รับเงินที่มียอดเงินลดลง ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดใช้บริการพร้อมเพย์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะพบว่าการโอนเงิน/รับเงินแต่ละครั้งจะมียอดเงินเฉลี่ยมากกว่า 5,000 บาท/รายการ แต่ในระยะหลังเริ่มเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/รายการ หรือแม้แต่การโอนเงิน/รับเงิน เพื่อชำระค่าอาหาร ค่าสินค้า-บริการประจำวัน ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
"ตอนแรกๆ ที่เปิดบริการพร้อมเพย์ ยอดโอนเงิน/รับเงิน มักจะมากกว่า 5,000 บาท/รายการ แต่ระยะหลังมานี้ ยอดโอนเงิน/รับเงินค่อยๆ ลดลง เหลือเฉลี่ยประมาณ 3,500-3,800 บาท/รายการ เริ่มเห็นการจ่ายค่าข้าว ค่าอาหารผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นบริการทางการเงินที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น" น.ส.สิริธิดากล่าว
พร้อมมองว่าภาพรวมการใช้บริการพร้อมเพย์ในส่วนของภาคธุรกิจในอนาคตจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ธปท.จะพยายามส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้บริการทางการเงินในรูปแบบนี้ เพราะช่วยให้เกิดความสะดวก และเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก
อย่างไรก็ดี การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านพร้อมเพย์ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่ใช้ระบบพร้อมเพย์ด้วยกันเองแล้ว พบว่าของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย แต่ประเทศที่มีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มากเป็นอันดับต้นๆ คือ สิงคโปร์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ระดับโลก ธปท.มีกำหนดจัดงาน BANGKOK Fintech Fair 2018 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.61 ที่ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในงานจะมีการแสดงนวัตกรรมทางการเงินที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสด้านการเงิน และการชำระเงินของ SMEs และผู้ใช้บริการรายย่อย ตลอดจนการแสดงศักยภาพและความสำเร็จของผู้ให้บริการไทย ในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่เข้าถึงผู้ใช้งานในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ SMEs, ธุรกิจขนาดใหญ่, ภาครัฐ และประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย
ผู้เข้าร่วมงานนอกจากจะเป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจแล้ว ยังมีตัวแทนจากสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ, บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน, FinTech firms ตลอดจนบริษัทด้าน IT ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ซึ่งทาง ธปท.มุ่งหวังว่างานดังกล่าวจะช่วยสร้างการรับรู้ในด้าน FinTech และทำให้เกิดการตื่นตัวจากการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ ของโลก และนำไปปรับใช้กับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
"เราหวังว่าประชาชน และภาคธุรกิจรายย่อยจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริการพื้นฐาน ซึ่งเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และราคาไม่แพง" น.ส.สิริธิดา กล่าว