รมว.พาณิชย์ สั่งเกาะติดสถานการณ์เหล็กใกล้ชิดหลังสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการการค้า เตรียมเจรจาขอยกเว้นเป็นรายพิกัดสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 15, 2018 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางการค้าที่นำเข้าจากทั่วโลก ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 มาตรา 232 โดยเรียกเก็บอากรกับสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม ในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ติดตามและศึกษาผลกระทบอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมแผนการเพื่อเจรจากับรัฐบาลของสหรัฐฯ ในการขอยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศไทย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามสถานการณ์การค้าเหล็กอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการ ซึ่งหากพบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ก็ให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาตามที่กฎหมายมีบังคับใช้อยู่ต่อไป ซึ่งปัจจุบันไทยมีการใช้มาตรการทั้งตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นกับสินค้าเหล็กหลายรายการ และอาจจะมีการใช้เพิ่มขึ้นหากเกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม

ทั้งนี้ไทยจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวโดยการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 ทั้งเป็นรายประเทศและเป็นรายพิกัดสินค้า ซึ่งในการขอยกเว้นรายประเทศ จะใช้เวทีเจรจาในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เป็นเวทีหารือกับสหรัฐฯ เพื่อยกเว้นการใช้มาตรการ 232 กับไทย ส่วนการขอยกเว้นเป็นรายพิกัดสินค้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการดำเนินการขอยกเว้นเป็นรายพิกัด ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้ ซึ่งในการยื่นเพื่อขอยกเว้น ภาครัฐจะร่วมกับภาคเอกชนไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดเตรียมข้อมูลในการดำเนินการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ