นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน, ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นและรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน
โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินนั้น ตามแผนจะสรุปร่างทีโออาร์ ให้เสร็จภายในเดือน มี.ค.หรืออย่างช้าต้นเดือน เม.ย.โดยขณะนี้มีความก้าวหน้า 70-80% แล้ว คาดว่าจะประกาศร่างทีโออาร์ได้ตามเป้าหมาย เพราะเหลือประเด็นอีกไม่มากที่คณะกรรมการร่างทีโออาร์ฯ จะต้องสรุป เช่น สัดส่วนของต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมลงทุน และเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เกิดการล็อกเสปกหรือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
อย่างไรก็ตาม การเขียนทีโออาร์จะต้องมีรายละเอียดและมีความชัดเจน ไม่เกิดการตีความ เปิดกว้างให้เกิดการแข่งขัน
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ในความร่วมมือไทย-จีนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระยะแรก เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทางทั้งหมด 252 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้าน โดยช่วงสถานี กลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร กรมทางหลวง(ทล.)อยู่ระหว่างทำงานก่อสร้าง ส่วนตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11.5 กม. ทางจีนได้ส่งแบบมาแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ และจะทยอยส่งแบบตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม.เพื่อก่อสร้างตามแผน
ทั้งนี้ รมว.คมนาคมได้ให้นโยบายเร่งดำเนินการในรถไฟความเร็วสูง ในความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 394 กิโลเมตร ซึ่งไทยจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดเอง โดยเตรียมของบประมาณเพื่อดำเนินการออกแบบแล้ว อยู่ระหว่างประเมินวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการราว 1 พันล้านบาทเศษ ใช้เวลาออกแบบ 2 ปี โดยจะของบกลางปี 2561 เพื่อเริ่มต้นและงบประมาณผูกพันปี 2562 ด้วย
"ขณะนี้ในระยะแรก อยู่ในการตรวจสอบแบบตอนที่ 2 มีการปรับแก้อยู่ คาดว่าจะสรุปเร็วๆนี้จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งตอนที่ 2 จะก่อสร้างเป็น 1 สัญญา พร้อมกันนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดในระยะที่ 2 เพื่อเร่งว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบต่อไป ขณะที่การประชุมคณะทำงานร่วมรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 24 นั้นจะเป็นระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.นี้ที่พัทยา"นายอานนท์ กล่าว