รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีที่มีประชาชนในพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันลงชื่อเตรียมยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้คงจุดจอดรถไฟความเร็วสูงที่สถานีชุมทางบัวใหญ่ โดยเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตามแผนเดิมภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 จากจังหวัดนครราชสีมา ปลายทางหนองคาย ได้กำหนดจุดจอดรถไฟความเร็วสูงที่สถานีนครราชสีมา-ชุมทางบัวใหญ่-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย แต่หลังจากนั้นได้มีการสอดแทรกเส้นทางสถานีบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เข้ามาแทน ซึ่งการศึกษาใหม่มีข้อผิดพลาดและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการนั้น
กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการก่อสร้างสถานีรถไฟบัวใหญ่ ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดหนองคาย
โดยสนข. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ แล้วเสร็จเมื่อปี 2558 ซึ่งการศึกษาเพื่อกำหนดจุดจอดตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง ได้ใช้หลักการสำรวจพื้นที่และการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง ไม่มีข้อผิดพลาดและเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญดังนี้
1.ความสะดวกของประชาชนในการเข้าถึงสถานี ทั้งด้านภาพรวมในระดับภาคและระดับจังหวัด
2.ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ในลักษณะทางกายภาพ
3.ตำแหน่งที่ตั้งสถานีมีระยะห่างจากชุมชนเดิม/ย่านธุรกิจเดิมไม่มากนัก
4.สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมืองและโครงการพัฒนาต่างๆ ในอนาคต
5.มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพื้นที่และด้านเศรษฐกิจในระดับสูง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดหนองคาย ได้กำหนดตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงไว้ 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ซึ่งตำแหน่งของสถานีรถไฟความเร็วสูงบัวใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศใต้และอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณสถานีรถไฟเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการศึกษาแต่ประการใด