ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 1.25-1.50% เป็น 1.50-1.75% ในการประชุมรอบที่สองของปีนี้ ในวันที่ 20-21 มีนาคม 2561 สำหรับผลต่อประเทศไทย คงส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น อันอาจทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกไป ในขณะที่การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยคงเกิดขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของไทยยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศคงจะขึ้นกับการส่งสัญญาณทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย
สำหรับผลกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีเงินทุนไหลออกไปบางส่วน แต่ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ทิศทางค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยกดดันค่าเงินบาทระยะนี้มาจากความเสี่ยงด้านการเมืองสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งท่าทีของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่แข็งกร้าวมากขึ้น อันส่งผลให้มีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมา จากความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า กอปรกับการขาดดุลการคลังในระดับสูง ซึ่งคงเป็นเหตุการณ์ที่อาจจะกดดันการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อีกระยะ
ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับที่สูงกว่าระดับศักยภาพ ประกอบกับแรงหนุนจากมาตรการทางการคลังอาจนำมาสู่ประเด็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะขยายตัวร้อนแรงเกินไปได้ ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงกว่าระดับศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นการจ้างานนอกภาคเกษตรในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 242,000 ตำแหน่งต่อเดือน ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 4.1% ทั้งนี้ หากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 200,000 ตำแหน่งต่อเดือนต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ทำสถิติต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ทศวรรษในปีนี้ อันอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อนแรงเกินไปและอาจสะสมความเปราะบางในระยะข้างหน้าได้
นอกจากนี้ พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกับมุมมองของเฟด และไม่ได้ส่งสัญญาณปรับเร่งขึ้นอย่างร้อนแรง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทยอยปรับขึ้นเข้าใกล้ระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 2.2%YoY โดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับการเปลี่ยนแปลงในเดือนก่อน ขณะที่ตลาดการเงินคลายความกังวลต่อโอกาสที่เฟดจะเร่งจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปบางส่วน อันสะท้อนจากคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าที่ปรับลดลงและทรงตัวที่ระดับ 2.8% ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเดือน กุมภาพันธ์ ที่ขยายตัวที่ 0.1%MoM ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.3%MoM ยังคงบ่งชี้ถึงพัฒนาการเงินเฟ้อที่ทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการจ้างงานเดือนกุมภาพันธ์จะปรับขึ้นในระดับสูงกว่า 300,000 ตำแหน่ง อันสนับสนุนการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่เร่งรีบของเฟดมากนัก
"เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงกว่าระดับศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่อัตราว่างงานมีโอกาสที่จะลดลงทำสถิติต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ทศวรรษ คงเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อนแรงเกินไป ขณะที่พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างทรงตัวบ่งชี้ว่าเฟดยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มองไปข้างหน้า เฟดน่าจะยังคงย้ำถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ตลาดคงจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 20-21 มีนาคม 2561 นี้ เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวล เป็นครั้งแรก โดยในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีการเปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจครั้งใหม่ อันคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณถึงมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี ในส่วนของมุมมองเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ทั้งนี้ จุดสนใจอีกจุดหนึ่งของการประชุมครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นการส่งสัญญาณถึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่เฟด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะยังส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 3 ครั้งในปีนี้ โดยเฟดคงจะติดตามประเด็นความเสี่ยงและปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกระยะ โดยหากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงรักษาการเติบโตในระดับที่สูงกว่าศักยภาพต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่เฟดอาจจะส่งสัญญาณในการเร่งจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าได้