นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขอเชิญชวนผู้ผลิต ผู้นำเข้า-ส่งออกและผู้สนใจร่วมชมงาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 วันเจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันจำหน่ายปลีกสำหรับประชาชนทั่วไป วันที่ 2 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 1-8 และ อาคารชาแลนเจอร์ ฮอลล์ 1 - 3 ศูนย์การ แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทอง ธานี
งาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 จึงเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่สำคัญ มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการอาหารไทยให้โด่งดังไกลไปทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่งานนี้ยังเป็นเวทีสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจากทุกประเทศทั่วโลกที่จะมีโอกาสได้พบปะเจรจาการค้า ในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนั้น เราดำเนินตามนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าและบริการอาหารไทย โดยเร่งรัดการทำตลาดเชิงกลยุทธ์ ช่วยหาช่องทางเปิดตลาดใหม่ ควบคู่ไปกับการร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ซึ่งการจัดงาน THAIFEX - World of Food Asia ถือเป็นกลไกหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว"
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า "งาน THAIFEX – World of Food Asia 2018 เป็นอีกหนึ่งความพยายามของหอการค้าไทยและพันธมิตร ที่ต้องการจะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านอาหาร ความสำคัญของงานคือการที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จะได้เรียนรู้รูปแบบธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศที่มาร่วมจัดแสดงในงาน เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของตนได้ โดยปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 2,500 ราย จาก 40 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นผู้ประกอบการต่างประเทศประมาณ 1,250 ราย และผู้ประกอบการไทย 1,250 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ส่งออกที่เป็น SMEs 432 ราย และมีผู้ประกอบการรายใหม่อีก 200 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23 % สำหรับประมาณการผู้เข้าชมงาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา"
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 พบว่าปริมาณการส่งออกอาหารสามารถทำรายได้ให้ประเทศมากกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 830,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10.75 ล้านคนในอุตสาหกรรมเกษตรและประมง ซึ่งสถานการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยนั้นจะเกี่ยวพันกับหลายปัจจัย อาทิ ทรัพยากรและวัตถุดิบการเกษตรที่มีคุณภาพสูง ได้รับการรับรองและเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) การมีบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถในระดับมาตรฐานนานาชาติ และปัจจัยสุดท้ายคือความสามารถในการกระจายสินค้าในปริมาณมากด้วยระบบการขนส่งที่มีนวัตกรรมทันสมัย พร้อมที่จะให้บริการได้กับทุกความต้องการของตลาด"
"จุดแข็งของประเทศไทย คือความหลากหลายของประเภทอาหาร รวมไปถึงเครื่องปรุง และส่วนผสมต่างๆ สามารถนำมาผสมผสานกลายเป็นรสชาติของอาหารที่ได้มาตรฐาน มีความคิดสร้างสรรค์ และน่ารับประทาน นอกจากนี้ยังพบว่า เมนูอาหารไทยมักจะได้รับการแนะนำว่า เป็นหนึ่งในรายการอาหารระดับโลกจากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงต่างๆ โดยล่าสุด CNN ได้ให้การยกย่องเมนูส้มตำ (ลำดับที่ 46) เมนูต้มยำกุ้ง (ลำดับที่ 8) และแกงมัสมั่น (ลำดับที่ 1) เป็นต้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอาหารและเครื่องปรุง ทำให้อาหารมีรสชาติที่ดีขึ้น วิธีและขั้นตอนการผลิตที่ดีกว่า คุณภาพของอาหารมีเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการให้บริการที่ดีขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการนำโภชนาการมาใช้ ทั้งนี้ในตลาดโลกจะทราบดีว่า ผลิตภัณฑ์อาหารแบรนด์ไทยนั้นมีความเข้มแข็ง และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอาหารไทย เมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาก็มักจะนำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องปรุง เพื่อนำไปประกอบอาหารไทยยังภูมิลำเนาของตนเองอีกด้วย และนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภาครัฐต้องออกมาให้ตราสัญลักษณ์รับรองในคุณภาพของอาหารว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีมาตรฐาน มีรสชาติของอาหารไทยอย่างแท้จริง ภายใต้ ตราสัญลักษณ์ "ไทย ซีเล็ค (Thai SELECT)" และตราสัญลักษณ์ "ไทยแลนด์ ทรัสต์ มาร์ค (Thailand Trust Mark)"ปลัดฯ พาณิชย์ กล่าว